วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562

บทที่ 5 ประเภทของหลักสูตร สัปดาห์ที่.6


บทที่ 5
ประเภทของหลักสูตร
บทที่ 5
ประเภทของหลักสูตร 
มโนทัศน์(Concept)
            การจัดประเภทของหลักสูตรว่าเป็นประเภทใดนั้นขึ้นอยู่กับการตอบสนองผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนและสถานการณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมแต่ละประเภทและแต่ละระดับการศึกษาเป็นสำคัญ ประเภทของหลักสูตรสามารถแบ่งได้เป็นหลักสูตรบูรณาการ หลักสูตรกว้าง หลักสูตรเสริมประสบการณ์ หลักสูตรรายวิชา หลักสูตรแกน หลักสูตรแฝง หลักสูตรสัมพันธ์วิชา หลักสูตรเกลียวสว่าน และหลักสูตรสูญ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้นักหลักสูตรได้นำจุดเด่นจุดด้อยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด

ผลการเรียนรู้(Learning Outcome)
            บทเรียนนี้ออกแบบไว้ให้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถ ดังนี้
1.       มีความรู้ในการจัดจำแนกประเภทของหลักสูตร
2.       สามารถบอกลักษณะสำคัญของหลักสูตรแต่ละประเภทได้

สาระเนื้อหา(Content)

1. หลักสูตรบูรณาการ
              หลักสูตรบูรณาการ (The Integrated Curriculum) เป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรกว้างโดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ มาหลอมรวม ทำให้เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไป         การผสมผสานเนื้อหาของวิชาต่างๆ เข้าเป็นเนื้อเดียวกันทำได้หลายวิธี ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นต่อไปอย่างไรก็ตามที่มีการจัดทำหลักสูตรบูรณาการขึ้นไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของหลักสูตรหลายวิชาเท่านั้นมีเหตุผลและความคิดพื้นฐานซึ่งสนับสนุนอยู่ด้วยจะขออธิบายให้ทราบโดยสังเขปดังต่อไปนี้
     1. เหตุผลและพื้นฐานความคิด
        1.เหตุผลทางจิตวิทยาและวิชาการ
           ก. โดยธรรมชาติเด็กหรือผู้เรียนจะมีความสนใจ และมีความกระตือรือร้นในการที่จะแสวงหาความรู้และสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอสมองของเด็กจะไม่จำกัดอยู่กับ         การเรียนรู้วิชาใดวิชาหนึ่งเป็นส่วนๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการแสวงหาความรู้ก็จะเรียนรู้หลายๆ อย่างพร้อม ๆ กัน ด้วยเหตุนี้หลักสูตรบูรณาการจึงเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมเพราะจะสามารถสนองความต้องการของเด็กหรือผู้เรียนได้
           ข. จากผลการวิจัยเรื่องพัฒนาการทางปัญญาของเด็กในชั้นประถมศึกษา แสดงว่าพัฒนาการทางปัญญาจะดำเนินไปเป็นขั้นๆ แต่ละขั้นจะแตกต่างกันไปและพัฒนาการของแต่ละคนก็จะมีอัตราความเจริญต่างกัน แต่ที่สำคัญคือพัฒนาการนั้นจะดำเนินไปด้วยดีในเมื่อเด็กหรือผู้เรียนได้มีประสบการณ์ด้วย
            ค. หลักสูตรบูรณาการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับสื่อการเรียนการสอนหลายๆ อย่างและให้ได้มีโอกาสแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมความคิดริเริ่มหลักสูตรแบบนี้ทำได้ดีมากส่วนดีอีกประการหนึ่งของหลักสูตรคือช่วยลดภาวะที่จะต้องท่องจำลงไปอย่างมาก
       1.เหตุผลทางสังคมวิทยา
          เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การศึกษาจะเกิดผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อให้ผู้เรียนสามารถตอบปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ด้วยเหตุนี้หลักสูตรจึงต้องเป็นหลักสูตรสนับสนุนสิ่งดังกล่าวซึ่งคุณสมบัตินี้มีอยู่ในหลักสูตรบูรณาการกล่าวคือ ประสานสัมพันธ์ระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ใช้ปัญหาหรือกิจกรรมเป็นศูนย์กลางของหลักสูตรอันจะมีผลให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทักษะและเจคติความต้องการของชีวิต
        1.เหตุผลทางการบริหาร
       หลักสูตรบูรณาการช่วยให้ลดตำราเรียนได้ คือแทนที่จะแยกเป็นตำราสำหรับ  แต่ละวิชา ซึ่งทำให้ต้องใช้ตำราหลายเล่ม ก็อาจรวมเนื้อหาของหลายวิชาไว้ในตำราเล่มเดียวกันและยังสามารถทำให้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่ขาดแคลนครู หลักสูตรบูรณาการซึ่งอาศัยการสอนโดยใช้กิจกรรมเป็นหลักจะช่วยให้ครูหนึ่งคนสามารถสอนได้มากกว่าหนึ่งชั้นในเวลาเดียวกัน
       ตามแนวความคิดข้างบนนี้อาจกล่าวได้ว่า หลักสูตรบูรณาการคือหลักสูตรที่โครงสร้างของเนื้อหาวิชามีลักษณะเป็นสหวิทยาการ(Inter-disciplinary) คือมีการผสมผสานอย่างกลมกลืน   แนบแน่นระหว่างองค์ประกอบการเรียนรู้ทุกด้านอันได้แก่ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัยและ     มีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นสหวิทยาการ (Inter-disciplinary Learning) ด้วย
                   ในบางตำรากล่าวว่าหลักสูตรบูรณาการ คือหลักสูตรที่โครงสร้างของเนื้อหาวิชามีลักษณะเป็นหัวข้อหรือกิจกรรม หรือปัญหา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ
                   หลักสูตรบูรณาการที่มีใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย  มีทั้งที่เป็นหลักสูตรบูรณาการเต็มรูปและไม่เต็มรูป มีหลายประเทศที่เห็นว่าวิชาประเภททักษะเช่น คณิตศาสตร์ และภาษาถ้าจะจัดการเรียนการสอนให้เกิดผลดี ควรจัดหลักสูตรเป็นแบบรายวิชาหรือหลักสูตรกว้าง
             
        2.  ลักษณะของหลักสูตรบูรณาการที่ดี
              ในการผสมผสานวิชาหรือสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้ได้หลักสูตรบูรณาการนั้น ถ้าจะให้ดีจริงๆนักพัฒนาหลักสูตรจะต้องพยายามให้เกิดบูรณาการในลักษณะต่อไปนี้โดยครบถ้วนคือ
        1. บูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้ แต่เดิมเมื่อสภาพและปัญหาสังคมยังไม่สลับซับซ้อน และปริมาณเนื้อหาก็ยังไม่มีมากนัก การเรียนรู้ซึ่งใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้อย่างง่ายๆ
         2. บูรณาการระหว่างพัฒนาการทางความรู้และพัฒนาการทางจิตใจ เพราะการเรียนรู้วิชาการหรือทักษะในด้านหนึ่งด้านใดโดยปราศจากความรู้สึกในคุณค่าของสิ่งที่เรียน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกันถ้าผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สร้างความรู้สึกพึงพอใจและประทับใจ ก็จะมุ่งมั่นในการเรียนและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเหตุนี้การสร้างบูรณาการระหว่างความรู้และจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น
           3. บูรณาการระหว่างความรู้และการกระทำ การสร้างสหสัมพันธ์ระหว่างความรู้และ     การกระทำมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระหว่างความรู้และจิตใจ โดยเฉพาะในด้านจริยศึกษา   การเรียนรู้เรื่องค่านิยมและการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเลือกค่านิยมที่เหมาะสม ดังนั้นการบูรณาการความรู้และการกระทำเข้าด้วยกัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
           4. บูรณาการระหว่างสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่าหลักสูตรดีหรือไม่ดี คือผลที่เกิดแก่คุณภาพของชีวิตผู้เรียน ด้วยเหตุนี้การบูรณาการวิชาต่างๆ
            5. บูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ ถ้าเรายอมรับว่าบูรณาการระหว่างความรู้กับจิตใจ และระหว่างความรู้กับการกระทำเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เราก็ย่อมจะมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญของการที่จะบูรณาการวิชาต่างๆ
       
       3. รูปแบบของบูรณาการ
                   หลักสูตรบูรณาการเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้มี  3 รูปแบบ แต่ในการปฏิบัติจริงมักจะมีการผสมกันระหว่างรูปแบบต่างๆ ที่นำมาจำแนกให้เห็นก็เพื่อความเข้าใจว่าพื้นฐานที่แท้จริงของแต่ละรูปแบบนั้นเป็นอย่างไร
           1. บูรณาการภายในหมวดวิชา  เราได้ทราบแล้วว่าหลักสูตรกว้างนั้นเป็นหลักสูตรที่ได้มี   การนำเอาวิชาหลายๆ วิชามารวมกันในลักษณะที่ผสมกลมกลืน แทนที่จะนำเอาเนื้อวิชามาเรียงลำดับกันเฉยๆ
           2. บูรณาการ ภายในหัวข้อ และโครงการ หลายประเทศในเอเชียนิยมใช้วิธีการแบบนี้คือ           การนำเอาความรู้ ทักษะ  และประสบการณ์ ของวิชาหรือหมวดวิชาตั้งแต่สองวิชาหรือหมวดวิชาขึ้นไป มาผสมผสานกันในลักษณะที่เป็นหัวข้อหรือโครงการ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียนและในแต่ละหัวข้อจะมีการแบ่งเป็นหน่วยการเรียน (Units of Learning) ด้วยทำให้เกิดหลักสูตรบูรณาการที่เราเรียกว่า หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (The Social Process and Life Function Curriculum)
             3. บูรณาการโดยการผสมผสานปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและของสังคม หลักสูตรที่ใช้การผสมผสานแบบนี้ ความจริงก็มีรูปแบบเหมือนอย่างสองแบบแรกที่ได้กล่าวมาแล้วคืออาจผสมผสานภายในหมวดวิชาหรือภายในหัวข้อและโครงการก็ได้ สิ่งที่แตกต่างออกไปคือหัวข้อหรือหน่วยการเรียน

2. หลักสูตรกว้าง
              หลักสูตรกว้าง (The  Broad-Field  Curriculum) เป็นหลักสูตรอีกแบบหนึ่งที่พยายามแก้ไขจุดอ่อนของหลักสูตรรายวิชา  โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนให้เป็นที่น่าสนใจและเร้าใจ  ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสามารถปรับตนให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมได้เป็นอย่างดี  รวมทั้งให้มีพัฒนาการในด้านต่างๆ  ทุกด้าน  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพยายามจะหนีจากหลักสูตรที่ยึดวิชาเป็นพื้นฐาน  มีครูหรือผู้สอนเป็นผู้สั่งการแต่เพียงผู้เดียว  วิชาต่างๆ ที่แยกจากกันเป็นเอกเทศ     จนทำให้ผู้เรียนมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชาเหล่านั้น  ผลก็คือนักเรียนไม่สามารถนำเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
        1. วิวัฒนาการของหลักสูตร
              หลักสูตรกว้างเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ  จากวิชาที่โทมัส  ฮุกซเลย์  (Thomas Huxicy) สอนเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนในราชสำนัก (The Royal Insutunon) ที่นครลอนดอน วิชาที่สอนนี้กล่าวถึงแผ่นดินแถบลุ่มแม่น้ำเทมส์และกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นแผ่นดินนั้น เป็นการนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ หลายวิชามาศึกษาในเวลาเดียวกัน
              ประเทศไทยได้นำหลักสูตรมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2503 โดยเรียงลำดับเนื้อหาต่างๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันเข้าไว้ในหลักสูตร และให้ชื่อวิชาเสียใหม่ให้มีความหมายกว้างครอบคลุมวิชาที่นำมาเรียงลำดับไว้ ตัวอย่างเช่นในหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2503 ได้มีการนำเอาเนื้อหาบางส่วนของวิชาศีลธรรม หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ มาเรียงลำดับเข้าเป็นหมวดวิชา เรียกว่า สังคมศึกษา เป็นต้น
          2. ลักษณะสำคัญของหลักสูตร
     1. จุดหมายของหลักสูตรมีขอบข่ายกว้างขวางกว่าหลักสูตรรายวิชา ขอบข่ายอาจครอบคลุมไปถึงสังคมด้วย จะเห็นได้จากการที่จุดหมายของหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2503 ครอบคลุมการฝึกอบรมเพื่อนำไปสู่คุณลักษณะที่เกี่ยวกับการตระหนักในตน มนุษย์สัมพันธ์ความสามารถในการครองชีพ และความรับผิดชอบตามหน้าที่พลเมือง
     2. จุดประสงค์ของแต่ละหมวดวิชา เป็นจุดประสงค์ร่วมกันของวิชาต่างๆ ที่นำมารวมกันไว้ ตัวอย่าง เช่น ในหมวดของสังคมศึกษาของประถมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2503 ซึ่งประกอบด้วยวิชาศีลธรรม หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ได้กำหนดจุดประสงค์ของหมวดวิชาครอบคลุมวิชาทั้งสี่นี้เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขอนำเอาจุดประสงค์ทั้งหมด (ซึ่งในหลักสูตรเรียกว่าความมุ่งหมาย) มาเสนอไว้ในที่นี้ด้วย (กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2503 หน้าที่ 1)
                       
       3. โครงสร้างหลักสูตรมีลักษณะเป็นการนำเอาเนื้อหาของแต่ละวิชาซึ่งได้เลือกสรรแล้วมาเรียงลำดับกันเข้า โดยไม่มีการผสมผสานกันแต่อย่างใด หรือถ้ามีก็น้อยมาก อย่างไรก็ตามหลักสูตรนี้เมื่อได้รับการดัดแปลงให้เป็นหลักสูตรบูรณาการ วิชาต่างๆ จะผสมผสานกันกันจนหมดความเป็นเอกลักษณ์
                  
 ส่วนดีส่วนเสียของหลักสูตร
                   ก.ส่วนดี
         1. เป็นหลักสูตรที่ทำให้วิชาต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีความสัมพันธ์กันดีขึ้น
         2. ในการสอนทั้งผู้เรียนและผู้สอนเกิดวามเข้าใจ และมีทัศนะคติเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนกว้างขึ้น
         3. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างกว้างขวาง เป็นการเอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรม ที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
                   ข.ส่วนเสีย
         1. หลักสูตรนี้ถึงแม้ว่าพยายามจะให้เอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไป แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เนื้อหาของวิชาต่างๆ เหล่านั้นผสมผสานกันจนเป็นเนื้อเดียว ดังนั้นในการผู้สอนจึงมีแนวโน้มที่จะรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาไว้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวิชาขาดหายไป
         2. ลักษณะของหลักสูตรทำให้การเรียนการสอนไม่ส่งเสริมให้เกิดความรู้เนื้อหาอย่างลึกซึ้ง เข้าทำนองรู้รอบมากกว่ารู้สึก
          3. เนื่องจากหลักสูตรครอบคลุมวิชาต่างๆ หลายวิชา ผู้สอนจึงอาจสอนไม่ดีเพราะขาดความรู้บางวิชา นอกจากนี้ในการเตรียมการเรียนการสอนจะต้องใช้เวลามาก เพราะเท่ากับต้องเตรียมสอนหลายวิชา แทนที่จะสอนวิชาเดียวอย่างที่สอนหลักสูตรรายวิชา
             4. การสอนอาจไม่บรรลุจุดประสงค์ เพราะต้องสอนหลายวิชาในขณะเดียวกัน

3. หลักสูตรประสบการณ์
              หลักสูตรประสบการณ์ (The Experience Curriculum) เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ว่าหลักสูตรเดิมที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรรายวิชาหรือหลักสูตรกว้าง ล้วนไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนเท่าที่ควร พื้นฐานความคิดของหลักสูตรนี้มีมาตั้งแต่สมัยรุซโซ (Rousseau) และเพลโต (Plato) แต่ได้นำมาปฏิบัติจริงเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เองนับเป็นก้าวแรกที่ยึดเด็กหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
      1. วิวัฒนาการของหลักสูตร
              หลักสูตรประสบการณ์ถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่โรงเรียนทดลอง (Laboratory School) ของมหาวิทยาลัยซิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1896 โดยจอห์นและแมรีดิวอี้ พื้นฐานของหลักสูตรตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ถ้าจะให้ผู้เรียนสนใจและเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน จะต้องอาศัยแรงกระตุ้น 4 อย่างคือ
          1. แรงกระตุ้นทางสังคม (Social Impulse) ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้เรียนมีความปรารถนาที่จะคบหาสมาคมกับเพื่อน
           2. แรงกระตุ้นทางสร้างสรรค์ (Constructive Impulse) ซึ่งสังเกตได้จากการที่ผู้เรียนไม่อยู่นิ่งชอบเล่น ชอบทำกิจกรรม ชอบเล่นสมมุติ ชอบประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ฯลฯ
          3. แรงกระตุ้นทางการค้นคว้าทดลอง (Impulse to Investigate and Experiment) หมายถึง ความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งอยากทดลองทำสิ่งที่ตนสงสัย จะเห็นได้จากการที่ผู้เรียนชอบรื้อค้นสิ่งต่างๆ และเล่นกับสิ่งที่อาจจะเป็นอันตราย เช่น เอามือไปแหย่ไฟด้วยความอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น
           4. แรงกระตุ้นทางการแสดงออกด้วยคำพูด การกระทำ และทางศิลปะ (Expressive or Artistic Impulse) ได้แก่ การแสดงออกในด้านการขีดเขียน การพูด การวาดภาพ การเล่นดนตรี ฯลฯ
              จอห์น ดิวอิ ถือว่าแรงกระตุ้นทั้ง 4 อย่างนี้ ผู้เรียนมีอยู่พร้อม และจะนำออกมาใช้ตามขั้นของพัฒนาการของตน ดั้งนั้นถ้าจะให้ผู้เรียนรู้และมีทักษะในด้านหนึ่งด้านใด ก็ควรเริ่มต้นจากกิจกรรมที่เป็นแรงกระตุ้นอยู่แล้ว และถ้าจะให้เกิดผลดียิ่งขึ้น กิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นควรมีประโยชน์แก่ผู้เรียนด้วย โดยเฉพาะควรเป็นกิจกรรมประเภทการงานที่มีประโยชน์ต่อชีวิติประจำวัน เช่น งานประกอบอาหาร งานเย็บปักถักร้อย และงานช่าง เป็นต้น สำหรับทักษะต่างๆ เช่น การอ่าน การเขียนและการคิดเลข ควรเป็นผลที่เกิดจากการกระทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยที่เด็กหรือผู้เรียนมองเห็นด้วยตนเองว่า ถ้าจะทำกิจกรรมให้เกิดผลดีก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
              ในปี ค.ศ. 1904 นักการศึกษาอีกท่านหนึ่งชื่อ มิเรียม (J.L Meriam) ได้ทดลองนำหลักสูตรประสบการณ์ไปใช้ในโรงเรียนประถมของมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) โดยกำหนดขอบเขตของหลักสูตรให้คลอบคลุมกิจกรรม 4อย่างคือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการสังเกตพิจารณา กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเล่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับนิยายและเรื่องราวต่างๆ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับ         การทำงานด้วยมือ หลักการของหลักสูตรก็เหมือนกันกับของจอห์น ดิวอี้ คือใช้ทักษะในการอ่าน เขียน คิดเลข เป็นเครื่องส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำกิจกรรม 
              สำหรับประเทศไทยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีสอนแบบโครงการในสถานศึกษาฝึกหัดครูก่อน พ.ศ. 2500 เสียอีก แต่ไม่ได้มีการจัดทำหลักสูตรโครงการขึ้นใช้ ได้มีการนำเอาวิธีสอนแบบโครงการมาทดลองใช้บ้างในบางที่บางแห่ง แต่ก็เป็นเพียงการทดลองเท่านั้น
              2. ลักษณะสำคัญของหลักสูตร
          1. ความสนใจของผู้เรียน เป็นตัวกำหนดเนื้อหา และเค้าโครงหลักสูตร ลักษณะข้อนี้หมายความว่า จะสอนอะไร เมื่อใด และจะเรียงลำดับการสอนก่อนหลังอย่างไรขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการของผู้เรียน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้เรียนย่อมหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทำขึ้นลอยๆ โดยปราศจากความมุ่งหมาย ความสนใจของผู้เรียนย่อมมีอยู่และเป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องค้นหาให้พบ แนวความคิดนี้ชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรประสบการณ์ประกอบด้วยกิจกรรมอันจะนำไปสู่ความสนใจใหม่และกิจกรรมใหม่ต่อเนื่องกันไป อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่ควรเอาใจใส่ก็คือความสนใจของผู้เรียน
              อย่างไรก็ตามปัญหาที่ผู้สอนยังต้องเผชิญอยู่ก็คือ จะทำอย่างไรกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนและทั้งหมดในชั้น เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องค้นหาความสนใจทั้งสองประเภทนี้เสียก่อนแล้วช่วยให้ผู้เรียนเลือกว่าอะไรคือความสนใจที่แท้จริง อะไรที่มีคุณค่าสำหรับส่วนรวมและแต่ละคนทั้งนี้เพื่อจะได้สามารถสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
             2. วิชาที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียน คือวิชาที่ผู้เรียนมีความสนใจรวมกัน ความสนใจรวมกันจะต้องอาศัยความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งพื้นฐานครอบครัว ซึ่งจะชี้ถึงค่านิยมละความสนใจของผู้เรียนด้วย เมื่อทราบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่สนใจอะไรก็นำเอามาจัดเป็นโปรแกรมการเรียนการสอนขึ้น
              การที่ต้องอาศัยความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก  ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างหลักสูตรประสบการณ์กับหลักสูตรรายวิชา และหลักสูตรแกน โดยที่เนื้อของหลักสูตรแบบหลังทั้งสองแบบจะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่หลักสูตรประสบการณ์กำหนดเนื้อหาจากความสนใจของผู้เรียนเป็นคราวๆ ไป นอกจากนี้หลักสูตรรายวิชายังอาศัยความรู้เป็นกรอบ และหลักสูตรแกนก็อาศัยปัญหาสังคมเป็นกรอบซึ่งต่างกับหลักสูตรประสบการณ์โดยสิ้นเชิง
             3. โปรแกรมการสอนไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า  ที่กล่าวเช่นนี้หมายความว่า  ในหลักสูตรแบบนี้ผู้สอนไม่สามารถกำหนดกิจกรรมการเรียนไว้ล่วงหน้า  แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้สอนไม่เตรียมตัวการสอนเลย  อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ผู้เรียนต้องกระทำก่อนการสอนก็คือ การสำรวจความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนและทั้งชั้น  และช่วยผู้เรียนในการตัดสินใจว่าความสนใจเรื่องใดมีคุณค่าควรแก่การศึกษา อนึ่ง เมื่อลงมือสอนหน้าที่ของผู้สอนก็คือ การช่วยผู้เรียนว่างแผนกิจกรรมต่างๆ และช่วยในการประเมินผลกิจกรรมที่ทำไปแล้ว
              4.  ใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นหลักใหญ่ในการเรียนการสอน ดังได้กล่าวแล้วว่าในหลักสูตรประสบการณ์ผู้สอนและผู้เรียนรวมกันพิจารณาตัดสินว่าควรจะทำกิจกรรมอะไร ฯลฯ โดยในดังกล่าววิชาจึงเป็นเครื่องมือสำหรับใช้แก้ปัญหา  และด้วยเหตุผลนี้หลักสูตรประสบการณ์จึงใช้วิชาเกือบทุกวิชาเข้าช่วย  สุดแท้แต่ว่าปัญหาจะพาดพิงถึงหรือต้องอาศัยวิชาใด ขณะเดียวกันผู้เรียนก็จะได้เรียนรู้วิชาต่างๆ  และฝึกทักษะไปด้วยในระหว่างที่ทำการแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้และฝึกทักษะในเมื่อความสนใจได้เกิดขึ้นแล้ว
           
           3.  ปัญหาของหลักสูตรประสบการณ์
              1. ปัญหาการกำหนดวิชาในหลักสูตร  หลักสูตรประสบการณ์นำเอาแนวความคิดใหม่มาใช้  คือแทนที่จะคิดในรูปแบบของวิชาอย่างหลักสูตรรายวิชา  กลับมองความสนใจปัจจุบันของผู้เรียนเป็นหลัก  ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งก็คือ  ครูหรือผู้สอนอาจเผลอนำเอาความสนใจของตนมาสรุปว่า  เป็นความสนใจของผู้เรียน  ถ้าหากเป็นดังว่าก็เท่ากับได้ทำลายหลักการของหลักสูตรนี้โดยสิ้นเชิง
              2. ปัญหาการจัดแบ่งวิชาเรียนในชั้นต่างๆ ในการจัดแบ่งเนื้อหาในชั้นต่างๆ หลักสูตรประสบการณ์ใช้หลักเดียวกันกับหลักสูตรรายวิชา คือพิจารณาจากวุฒิภาวะ  ประสบการณ์เดิม  เนื้อหาวิชาที่เรียนมาแล้ว  ความสมใจประโยชน์และความยากง่ายของเนื้อหา              

4. หลักสูตรรายวิชา
              หลักสูตรรายวิชา (The Subject Curriculum) เป็นหลักสูตรที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิมไม่เฉพาะแต่ในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยก็ได้ใช้หลักสูตรแบบนี้มาแต่ต้น การที่เรียนกว่าหลักสูตรรายวิชาก็เนื่องจากโครงสร้างของเนื้อหาวิชาในหลักสูตร จะถูกแยกออกจากกันเป็นรายวิชาโดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าในด้านเนื้อหาหรือการสอน สำหรับเนื้อหาที่คัดมาถือว่าเป็นเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ หลักสูตรของไทยเราที่ยังเป็นหลักสูตรรายวิชา ได้แก่ หลักสูตรมัธยมและอุดมศึกษา แต่มีการปรับปรุงโครงสร้าง โดยนำเอาระบบหน่วยกิตมาใช้ ซึ่งจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป
             1. ลักษณะสำคัญของหลักสูตร
        1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร มุ่งส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนโดยใช้วิชาต่างๆ เป็นเครื่องมือ ดังนั้นโครงสร้างของหลักสูตรจึงประกอบด้วยวิชาต่างๆ
         2. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร อาจมีส่วนสัมพันธ์กับสังคมหรือไม่ก็ได้ และโดยทั่วไปหลักสูตรนี้ไม่คำนึงถึงผลที่เกิดแก่สังคมเท่าใดนัก
         3. จุดประสงค์ของแต่ละวิชาในหลักสูตร เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และลักษณะในวิชานั้นๆ เป็นสำคัญ
         4. โครงสร้างของเนื้อหาวิชา ประกอบด้วยเนื้อหาของแต่ละวิชาที่เป็นเอกเทศไม่เกี่ยวข้องกับวิชาอื่น และจะถูกจัดไว้อย่างมีระบบ เป็นขั้นตอน เพื่อสะดวกแก่การเรียนการสอน
         5. กิจกรรมการเรียนการสอน เน้นเรื่องการถ่ายทอดความรู้ ด้วยการมุ่งให้ผู้เรียนจำเนื้อหาวิชา การส่งเสริมพัฒนาการในด้านอื่นๆ ถือว่าเป็นเรื่องกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือไม่ก็เป็นผลพวงจากการเรียนรู้เนื้อหาวิชา
         6. การประเมินผลการเรียนรู้ มุ่งในเรื่องความรู้และทักษะในวิชาต่างๆ ที่ได้เรียนมา
              2. ส่วนดีส่วนเสียของหลักสูตร
                   ก.ส่วนดี
                   1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตรซึ่งเน้นเนื้อหาวิชา ช่วยให้เนื้อหาวิชาเป็นไปโดยง่าย
                   2. เนื้อหาวิชาจะถูกจัดไว้ตามลำดับขั้นอย่างมีระบบ เป็นการง่ายและทุ่นเวลาในการเรียนการสอน
                   3. การจัดเนื้อหาวิชาอย่างมีระบบ ทำให้การเรียนรู้เนื้อหาวิชาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
                   4. การประเมินผลการเรียนทำได้ง่ายเพราะมุ่งประเมินความรู้ที่ได้รับเป็นสำคัญ
                   ข.ส่วนเสีย
                   1. เนื่องจากจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเน้นการถ่ายทอดความรู้ตามเนื้อหาที่กำหนดไว้    
                   2. การเน้นเนื้อหา ทำให้ผู้เรียนไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในด้านอารมณ์และสังคมเท่าที่ควร นอกจากนี้การที่มุ่งให้จำเนื้อหา
                   3. หลักสูตรแบบนี้ทำให้ผู้สอนละเลยการเรียนรู้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เรียนเนื้อหาการเรียนดังกล่าวเรียกว่า การเรียนที่เป็นผลพวง (Concomitant Learning) ซึ่งอาจเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่ผู้เรียนก็ได้
                   4. การที่หลักสูตรจัดแยกวิชาต่างๆ อันจะนำไปสู่จุดหมายของหลักสูตรสิ่งที่มองเห็นก็คือจุดประสงค์ของแต่ละวิชา ซึ่งกระจัดกระจายแยกกันเป็นอิสระ เป็นการสร้างทัศนะแคบๆ ในด้านการเรียนรู้ซึ่งเท่ากับบั่นทอนความอยากรู้ไปในตัว
                   5. ถึงแม้ว่าหลักสูตรแบบนี้จะมีการจัดโครงสร้างและลำดับของเนื้อหาอย่างมีระบบ แต่ก็มักจะละเลยความสนใจของผู้เรียน
                   6. กิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรแบบนี้ จะจำกัดอยู่ในลักษณะที่ผู้สอนเป็นผู้ให้และผู้เรียนเป็นผู้รับ
              3. การปรับปรุงหลักสูตร
              เนื่องจากหลักสูตรรายวิชามีข้อบกพร่องหลายประการดังกล่าวแล้วจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไข วิธีการที่ทำมี 2 วิธี คือ
                   1. จัดเรียงลำดับเนื้อหาให้ต่อเนื่องกัน (Articulation) คือ จัดเนื้อหาที่อยู่ในชั้นเดียวกันหรือระหว่างชั้น ให้ต่อเนื่องกัน โดยรักษาความเป็นวิชาของแต่ละวิชาไว้ การจัดมีอยู่ 2 แบบ คือ
                   ก. จัดให้ต่อเนื่องตามแนวนอน (Horizontal Articulation) หมายถึง การจัดเนื้อหาของวิชาหนึ่งให้สัมพันธ์หรือต่อเนื่องกับของอีกวิชาหนึ่ง ซึ่งอยู่ในชั้นเดียวกัน
                   ข. จัดให้ต่อเนื่องในแนวตั้ง (Vertical Articulation) หมายถึง การจัดเนื้อหาที่อยู่ต่างชั้นกัน คือ ระหว่างชั้นต่ำกับชั้นสูงโดยทำให้เกิดความต่อเนื่องของวิชา ตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษา และอาจถึงมหาวิทยาลัยด้วยก็ได้ ถ้าการจัดใช้หลักอย่างเดียวกันการจัดความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชาตามแบบนี้จะจัดภายในหลักสูตรเดียวกัน
                   2. จัดโดยการเชื่อมโยงเนื้อหาเข้าด้วยกัน (Coherence) คือจัดเนื้อหาของแต่ละวิชาให้เชื่อมโยงกันในลักษณะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ผสมกลมกลืนไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกัน การเชื่อมโยงโดยวิธีการดังกล่าวนี้ทำได้ 2 ระดับ คือ
         ก. ระดับความคิด (Cognitive level) จุดหมายของหลักสูตรข้อหนึ่งที่เราต่างก็ยอมรับกัน  คือ  การพัฒนาความสามารถทางปัญญา  อันได้แก่ความรู้ความเข้าใจ  ทักษะ  เจตคติ  ความพึงพอใจ  ฯลฯ  สิ่งต่างๆ ให้การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่เพียงแต่จะพัฒนาทักษะในการทดลองเท่านั้น แต่ให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจในประโยชน์ที่วิทยาศาสตร์มีต่อมนุษย์ชาติอีกด้วย
         ข. ระดับโครงสร้าง (Organizational Level) หมายถึง การจัดให้เนื้อหาในแต่ละวิชาเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน และเกิดประโยชน์ต่อวิชาอื่นๆ ด้วย เป็นการจัดที่เพ่งเล็งที่เนื้อหาไม่ใช่ตัวบุคคลเหมือนกับระดับความคิด ดังนั้นผู้จัดจะดูว่า เนื้อหาของแต่ละวิชานั้นจะเชื่อมโยงและอำนวยประโยชน์แก่วิชาอื่นอย่างไร  วิธีการจัดโดยโยงเนื้อหาเข้าด้วยกันนี้ ทำให้เกิดหลักสูตรสัมพันธ์วิชา (The Correlated Curriculum)

5. หลักสูตรแกน
              หลักสูตรแกน (The Core Curriculum) ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณปี         ค.ศ. 1900 ด้วยเหตุผลสองประการ คือ ความพยายามที่จะปลีกตัวออกจากการเรียนที่ต้องแบ่งแยกวิชาออกเป็นรายวิชาย่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือความพยายามที่จะให้หลุดพ้นจากการเป็นหลักสูตรรายวิชา ประการหนึ่ง และความพยายามที่จะดึงเอาความต้องการและปัญหาของสังคมมาเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร อีกประการหนึ่ง
              แรกทีเดียวได้มีการนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ มารวมกันเข้าเป็นวิชากว้างๆ เรียกว่าหมวดวิชา ทำให้เกิดหลักสูตรแบบกว้างขึ้น แต่หลักสูตรนี้มิได้มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาและความต้องการของสังคมมากนัก ดังนั้นจึงมีผู้คิดหลักสูตรแกนเพื่อสนองจุดหมายที่ต้องการ
              1. วิวัฒนาการของหลักสูตร
        วิวัฒนาการของแนวความคิดเรื่องหลักสูตรแกน เริ่มจากการใช้วิชาเป็นแกนกลางโดยเชื่อมเนื้อหาของวิชาที่สามารถนำมาสัมพันธ์กันได้ เข้าด้วยกัน แล้วกำหนดหัวข้อขึ้นให้มีลักษณะเหมือนเป็นวิชาใหม่ เช่น นำเอาเนื้อหาของวิชาชีววิทยา สังคมศึกษาและสุขศึกษามาเชื่อมโยงกันภายใต้หัวข้อ “สุขภาพและอนามัยของท้องถิ่น” เป็นต้น ต่อมาภายหลังมีผู้คิดปรับปรุง การเชื่อมโยงอีก โดยยึดเอาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกน แล้วกำหนดหัวข้อการเรียนการสอนให้ครอบคลุมวิชาอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า เอาวิชาประวัติศาสตร์เป็นแกนแล้วขยายขอบเขตของเนื้อหาให้ครอบคลุมวิชาศิลปะ ดนตรี วรรณคดี วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามการใช้วิชาเป็นแกนทั้งสองรูปแบบนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์กับปัญหาสังคมปัจจุบัน
        เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงแนวความคิดเสียใหม่โดยถือเอาความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร แต่ก็ปรากฏว่ายังมีข้อพกพร่องอยู่อีก เพราะความต้องการของผู้เรียนกับของสังคมอาจไม่ตรงกันก็ได้ นอกจากนั้นความต้องการนั้นอาจไม่ใช่ความต้องการของผู้เรียนโดยส่วนร่วม อาจเป็นความต้องการของผู้ที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางทำให้พวกที่มาจากชนชั้นสูงและชั้นต่ำถูกทอดทิ้งอย่างไม่เป็นธรรมก็ได้
        จากวิวัฒนาการของหลักสูตรในสหรัฐอเมริกาทำให้เราพอจะอนุมานได้ว่า หลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียน และเป็นหลักสูตรที่เน้นให้เรื่องปัญหาสังคมและค่านิยมของสังคม โดยมีกำหนดเค้าโครงของสิ่งที่จะสอนไว้อย่างชัดเจน
              2. หลักสูตรแกนในเอเชีย
              ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ใช้หลักสูตรแกนอยู่ในปัจจุบันนี้มีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย  เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ แต่การตีความหมายของหลักสูตรมีอยู่ 3 ความหมาย คือ
                   1. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรที่นำเอาวิชาต่างๆ มาผสมผสานกัน โดยใช้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมปัจจุบัน ปัญหาของผู้เรียน หรือปัญหาทางประวัติศาสตร์มาผสมผสานกัน
                   2. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรที่ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ได้เลือกสรรแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคน โดยนำเอาสิ่งที่ได้เลือกไว้แล้วนี้ มาจัดในลักษณะหลักสูตรกว้าง ไม่แยกรายวิชา
                   3. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรประกอบด้วยวิชาต่างๆ ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกๆ คน
                   อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
                        ก. ไม่ว่าจะตีความหมายอย่างใด  หลักสูตรแกนเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนเหมือนกันทั้งหมด
                        ข. ความแตกต่างของเนื้อหาของหลักสูตรขึ้นอยู่กับนโยบายและจุดมุ่งหมายของการศึกษาซึ่งผู้รับผิดชอบเป็นผู้กำหนด
                        ค. ทุกหลักสูตรต่างมีจุดเน้นที่วัฒนธรรม  ค่านิยมและปัญหาสังคม  แต่จะเน้นมากหรือน้อยกว่ากันเพียงใด  ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายประเทศนั้นๆ
                        ง. ตามปกติหลักสูตรแกนจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บท  และมีลักษณะเป็นหลักสูตรบูรณาการ
                   เพื่อช่วยให้มองเห็นภาพของหลักสูตรแกนของประเทศต่างๆ  ในเอเชียชัดเจนยิ่งขึ้น    ขอนำเอาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องมาสรุปเปรียบเทียบให้เห็นดังต่อไปนี้
                        1. ความหมายของหลักสูตร ประเทศที่ดี
                            1. คือ จีน ญี่ปุ่น
                            2. คือ อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม นิวซีแลนด์                                                  3. คือ อินโดนีเซีย เนปาล ออสเตรเลีย
                        2. ผู้รับผิดชอบในการกำหนดหลักสูตร ประเทศที่รัฐบาลกลางมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมดคือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม สำหรับญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ รัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดแนวทางกลางให้ และโรงเรียนเป็นผู้จัดทำโปรแกรมการเรียนการสอนเอง มีอยู่สองประเภทที่รัฐบาลกลางไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ อินเดีย ซึ่งแต่ละรัฐจะดำเนินการเองโดยรัฐบาลกลางเพียงเสนอข้อคิดเห็น และออสเตรเลียซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของ แต่ละรัฐ ในบางรัฐยังถือว่าการกำหนดหลักสูตรเป็นเรื่องของโรงเรียน
                        3. ระดับการผสมผสานวิชาในหลักสูตร ที่มีการผสมผสานกันอย่างมากมายได้แก่ หลักสูตรของประเทศศรีลังกา ไทย เวียดนามและนิวซีแลนด์ ผสมผสานระดับปานกลาง ได้แก่ของจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ส่วนหลักสูตรของเนปาลนั้นมีการผสมผสานกันน้อยมาก
                        4. ระดับการเน้นหนักเรื่องชาตินิยมและความสามัคคีในชาติ ประเทศที่เน้นหนักมากคือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ไทย เวียดนาม ที่เน้นปานกลางคือ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ส่วนที่เห็นว่าจำเป็นแต่ไม่ได้เน้น คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
                        5. ระดับการเน้นหนักด้านศีลธรรมและจริยธรรม ประเทศที่เน้นหนักมากคือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ที่เน้นในระดับปานกลางคือ เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่เห็นว่าจำเป็นแต่ไม่ได้เน้นคือ คือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
                        6. สัดส่วนของหลักสูตรแกนในระดับประถมศึกษา ประเทศที่ถือว่าหลักสูตรประถมศึกษาทั้งหมดคือ หลักสูตรแกน คือ จีน มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ มีอินเดียและอินโดนีเซียเพียงสองประเทศที่หลักสูตรแกนไม่เป็นหลักสูตรประถมศึกษาทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากมีวิชาเลือกปะปนอยู่ด้วย
                        7. ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ประเทศที่เน้นความสัมพันธ์อย่างมาก คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ไทยและเวียดนาม ที่เน้นในระดับปานกลาง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์
                        8. วิชาที่จัดสอนให้ระดับประถมศึกษา ปรากฏว่าประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วได้กำหนดวิชาของหลักสูตรแกนไว้ใกล้เคียงกันมาก เป็นต้นว่าทุกประเทศมีการสอนภาษาประจำชาติและจัดให้มีการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนภาษากับทักษะในการเขียน และในการสื่อความหมายนอกจากนี้ยังถือว่าภาษาเป็นสิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ของชาติ และสร้างความเป็นปึกแผ่นทางวัฒนธรรม
             วิชาอื่นที่มีอยู่ในหลักสูตรในประเทศ ได้แก่ คณิตศาสตร์หรือเลขคณิต สังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์ สองวิชาหลังบางทีสอนรวมกันเป็นวิชาการศึกษาสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยเรียกว่ากลุ่มประสบการณ์ชีวิต
                        วิชาที่จัดไว้ในหลักสูตรของทุกประเทศอีกวิชาหนึ่งคือ จริยศึกษา วิชานี้ถึงแม้ว่าในอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะไม่แยกเป็นวิชาต่างหาก แต่ก็มีสอดแทรกอยู่ในวิชาอื่น นอกจากนี้ก็มีวิชาพลศึกษาและศิลปะ ซึ่งมีอยู่ในหลักสูตรของประเทศ สำหรับวิชาการงานก็มีอยู่ในหลักสูตรของเกือบทุกประเทศเช่นเดียวกัน ประเทศที่เน้นเรื่องนี้มากคือ อินเดียและจีน
              3. ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรแกน
              ในแง่ของการเน้นวิชาก็ได้แก่การบังคับให้เรียนวิชาต่างๆ ในหลักสูตร เช่น วิชาสามัญ ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ส่วนในด้านสังคมก็อาจกำหนดหลักสูตรโดยใช้หัวข้อต่อไปนี้
          1. ที่ยึดหน้าที่ของบุคคล ได้แก่ การสงวนรักษาทรัพยากร การผลิตสินค้าและบริการเฉลี่ยรายได้ การใช้สินค้าและบริการการพักผ่อนหย่อนใจ
          2. ที่ยึดปัญหาสังคมได้แก่ ปัญหาที่อยู่อาศัย อาหาร การจราจร มลภาวะ สุขภาพ ศีลธรรมและการมีงานทำ
           3. ที่ยึดการสร้างเสริมสังคม ได้แก่ ความรับผิดชอบตามหน้าที่พลเมือง การเป็นผู้บริโภคที่ฉลาด ความเข้าใจระบบเศรษฐกิจความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว การส่งเสริมอนามัยชุมชนและงานพัฒนาชุมชน

6. หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum)
              โรงเรียนโดยทั่วไปจะมีความสามารถและประสบความสำเร็จอย่างมากในการสอนให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และมีความรู้อย่างดียิ่งในสาขาวิชาต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนได้ตระหนักและพยายามอย่างมาก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จหรืออาจจะเรียกได้ว่าล้มเหลวมาตลอดก็คือ การสอนคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองดีให้แก่นักเรียน เช่น “แม่ปูสอนลูกปู”  “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” และ “จงทำตามที่ครูสอนแต่อย่างทำตามที่ครูทำ”  เป็นต้น ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อการสอนค่านิยมและจริยธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์เราจะเรียนรู้พฤติกรรม บุคลิกลักษณะ ค่านิยม และจริยธรรมโดยการเรียนแบบ นักการศึกษาและนักสังคมศาสตร์ชาวตะวันตกได้ให้ความสนใจในการเรียนรู้ประเภทนี้ และเชื่อว่านักเรียนเรียนรู้ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมต่างๆ  จากการกระทำของครูเอง และจากสิ่งที่โรงเรียนจัดให้รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน มากกว่าการสอนสิ่งเหล่านี้ตามที่ได้กำหนดไว้ในตัวหลักสูตร และได้บัญญัติคำเพื่อเรียกการเรียนรู้ที่แท้จริงที่ไม่ได้เกิดจากหลักสูตรปกติว่า หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum)
              1. ความหมาย
              หลักสูตรแฝง เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้กำหนดแผนการเรียนรู้เอาไว้ล่วงหน้าและเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่ได้ตั้งใจจะจัดให้ จากนิยามนี้สามารถอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจดีขึ้นโดยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมดังนี้ ในทางเปิดเผยโรงเรียนสอนคณิตศาสตร์และจัดให้เด็กชายหญิงเรียนรู้ การอ่าน การเขียน การสะกดคำและอื่นๆ แต่โรงเรียนและครูได้สอนหลายสิ่งหลายอย่างโดยไม่ตั้งใจจากการสอนตามหลักสูตรปกติในรูปของกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา และเรียนรู้จากสภาพการณ์และเงื่อนไขเชิงสังคมและเชิงกายภาพที่โรงเรียนจัดให้ และตรงประเด็นก็คือ ครูหรือโรงเรียนสอนค่านิยมให้แก่เด็กอย่างแอบแฝง หรือโดยไม่ตั้งใจ
                2. หลักสูตรแฝงกับพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย
              โดยทั่วไปโรงเรียนจะประสบความสำเร็จมากในการสอนให้เกิดการเรียนรู้ทางด้าน    พุทธิพิสัย  และทักษะพิสัย  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีการสอนและการประเมินผลที่จัดให้เกิดความสอดคล้องกันได้ง่ายและกระทำได้ง่าย  แต่โรงเรียนจะมีปัญหาในการสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัยซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิต  อารมณ์และการกระทำที่สอดคล้องกัน  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  เป็นเรื่องของการสอน  เจตคติ  ค่านิยม  และความประพฤติที่พึงประสงค์  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยการบรรยาย  หรือการใช้คำพูดสั่งสอน  เพราะโดยธรรมชาติและหลักข้อเท็จจริง  เด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ใช้คำพูดสั่งสอน  เพราะโดยธรรมชาติและหลักข้อเท็จจริง  เด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากตัวอย่างและการกระทำของผู้ใหญ่และผู้อยู่ใกล้ชิดมากกว่า
              ชิลเบอร์เมน (Silberman,1970:9) ได้ยืนยันความจริงในข้อนี้ว่า  สิ่งที่นักการศึกษาจะต้องตระหนักให้มากก็คือ  วิธีการที่เขาสอนและการกระทำของพวกเขามีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่เขาสอน  นั่นก็คือว่าวิถีทางที่เรากระทำกับสิ่งต่างๆ จะสร้างค่านิยมได้ตรงกว่าและมีประสิทธิผลมากกว่าที่เราได้สอนหรือพูดคุยกับเขาโดยตรงการปฏิบัติการในเชิงการบริหารที่มีลักษณะเฉพาะ  ประเภทการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติการแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ  การแบ่งแยกผิวพรรณและเชื้อชาติ  หรือการสอบแข่งขันเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาจะมีผลต่อหน้าที่พลเมืองมากกว่าการเรียนโดยตรงในหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา  เด็กๆ จะถูกสอนให้เรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมจริยธรรม  ศีลธรรม  บุคลิกภาพ  และความประพฤติทุกวันจากการจัดและดำเนินการของโรงเรียน  เช่น  วิถีทางที่ครูและพ่อแม่ประพฤติ  วิถีทางที่พวกเขาพูดกับเด็กและระหว่างผู้ใหญ่ด้วยตนเอง  ชนิดของพฤติกรรมที่พวกเขายอมรับและให้รางวัล  และชนิดของพฤติกรรมที่พวกเขาไม่ยอมรับ  และมีการลงโทษ  มากกว่าการเรียนรู้จากเนื้อหาที่บรรจุไว้ในหลักสูตรปกติ
              โคลเบอร์ก (kopiberg, 1970:120)  ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด      ผู้ซึ่งล่วงไปแล้ว  ได้มีความเชื่อและจุดยืนเดียวกันเกี่ยวกับความสำคัญและอิทธิพลของหลักสูตรแฝงในรูปแบบของการเรียนรู้ทางสังคม (socialization)  ของนักเรียน  เขามองว่าหลักสูตรแฝงมีลักษณะและธรรมชาติที่จำเป็นและเอื้อต่อการพาไปสู่ความเจริญงอกงามทางจริยธรรม  เพราะในโรงเรียนประกอบไปด้วยฝูงคน  การยกย่องและอำนาจ
              แจ๊คสัน (jackson, 1968 : 36) ได้ศึกษาลักษณะที่สำคัญของห้องเรียนและได้ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติของการกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและความสำคัญของหลักสูตรแฝงว่า  ในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน  นักเรียนเรียนรู้ที่จะปรับตนเองให้สอดคล้องกับเจตจำนงของครู  แล้วควบคุมการกระทำของตนเองให้เป็นที่ยอมรับ  เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับตามและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ  และกิจวัตรต่างๆ  ที่ได้กำหนดไว้เขาเรียนรู้ที่จะอดทนกับความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ และยอมรับนโยบายและแผนงานของผู้บริหาร  แม้ว่าจะขาดเหตุผลไปบ้างก็ตาม  แจ๊คสัน  (Jackson, 1972 : 81 ) ถือว่า กฎ  ระเบียบ  และกิจวัตรประจำวัน  เป็น 3 R(rules,regulaons, and  routines ) ของหลักสูตรแฝง  เพราะเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม  มิฉะนั้นพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นได้
              จากข้อเท็จจริง  ความคิด  และมุมมอง  เกี่ยวกับหลักสูตรแฝงนี้จะช่วยให้ครูและนักการศึกษาได้แง่คิด  และเข้าใจสัจธรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ในเรื่องเจตคติ  ค่านิยม  พฤติกรรม  คุณธรรม  และจริยธรรมของนักเรียน  ความจริงในเรื่องนี้ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักว่า   การสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัยโดยเน้นการสั่งสอนอบรมในลักษณะการบรรยาย  และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนปกติตามหลักสูตร  แต่เพียงอย่างเดียวย่อมจะไม่เพียงพอ  แต่จะต้องการขอความร่วมมือจากครูและบุคลากรทุกคนของโรงเรียนได้ช่วยกันสร้างบรรยากาศ จัดกิจกรรม  และประพฤติปฏิบัติตนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน  เนื่องจากหลักสูตรแฝงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในด้านค่านิยมและจริยธรรมของนักเรียน  โรงเรียนจึงไม่ควรเน้นและทุ่มเทในด้านการสอนสิ่งเหล่านี้ตามตัวหลักสูตรปกติมากจนเกินไปหรือเกินความจำเป็น  แต่ให้เพิ่มความสนใจแก่หลักสูตรแฝงมากขึ้น  โดยการนำหลักสูตรแฝงออกมาสู่ที่สว่าง  หรือนำความจริงเกี่ยวกับหลักสูตรแฝงมาเป็นยุทธวิธีหรืออุบายในการสอนจริยธรรมและสิ่งที่ดีงามได้แก่เยาวชน  นั่นคือ  นอกจากการจัดบรรยากาศในโรงเรียนให้ส่งเสริมการเรียนรู้ทางคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว  จำเป็นจะต้องมีการควบคุมหรือกำหนดสิ่งแวดล้อมในสังคมระดับชุมชน  และระดับประเทศให้เอื้อและสนองตอบไปในทิศทางเดียวกันด้วย  เพื่อเยาวชนจะได้เรียนรู้และเลียนแบบความประพฤติและสิ่งดีๆ จากผู้ใหญ่ในครอบครัวในโรงเรียนและในสังคม

7. หลักสูตรสัมพันธ์วิชา
              หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (The Correlated Curriculum) เป็นหลักสูตรรายวิชาที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ แรกทีเดียวการแก้ไขข้อบกพร่องทำโดยการนำเอาเทคนิคการสอนใหม่ๆ มาใช้ เช่น ให้ผู้เรียนร่วมในการวางแผนการเรียน และให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากการท่องจำ เพื่อให้ผู้เรียนรู้เนื้อหาที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อแก้ข้อบกพร่องของหลักสูตรที่เน้นเรื่องผู้สอนเป็นผู้สั่งการหรือจุดศูนย์กลางของการเรียนการสอน แต่การปรับปรุงด้านเทคนิคการสอนไม่ได้ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่ว่า หลักสูตรรายวิชามีขอบเขตแคบเฉพาะวิชา และยังมีลักษณะแบ่งแยกเป็นส่วนย่อยๆ อีกด้วย
              ในระยะต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขอีกโดยจัดให้มีความเชื่อมโยงระหว่างวิชาต่างๆ ทำให้เกิดหลักสูตรสัมพันธ์วิชาขึ้น วิธีการเชื่อมโยงก็ทำทั้งในระดับความคิดและระดับโครงสร้างดังได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามหลักสูตรสัมพันธ์วิชาก็คือหลักสูตรรายวิชาอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง  แต่เป็นหลักสูตรที่นำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกัน มาเชื่อมโยงกันเข้าแล้วจัดสอนเนื้อหาเหล่านั้นในคราวเดียวกัน  ตัวอย่างเช่น การนำเอาเนื้อหาของวิชาภูมิศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย  เขมร  ลาว  และเวียดนาม  หรือนำเอาหลักเกณฑ์ของวิชาคณิตศาสตร์มาเชื่อมโยงเป็นเครื่องมือในการสอนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

              สำหรับวิธีการที่ใช้ในการสัมพันธ์วิชา  เท่าที่ปฏิบัติกันมามีอยู่ 3 วิธีคือ
       1. สัมพันธ์ในข้อเท็จจริง  กล่าวคือใช้ข้อเท็จจริงของวิชาส่วนหนึ่งมาช่วยประกอบการสอนอีกวิชาหนึ่ง เช่น เมื่อมีการศึกษาประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่งถ้าปรากฏว่ามีวรรณคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตอนนั้นอยู่ด้วย  ก็นำเอาวรรณคดีนั้นมาศึกษาด้วยในขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มความเข้าใจแก่ผู้เรียนมากขึ้น ในทำนองเดียวกันอาจนำเอาข้อเท็จจริงของวิชาภูมิศาสตร์มาสอนให้ทราบถึงสาเหตุของสงคราม  หรือแสดงเส้นทางของกองทัพ  หรือแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศคู่สงครามก็ได้
        2. สัมพันธ์ในหลักเกณฑ์  การสร้างความสัมพันธ์วิธีนี้เป็นการนำเอาหลักเกณฑ์หรือแนวความคิดของวิชาหนึ่งไปใช้อธิบายเรื่องราวหรือแนวความคิดของอีกวิชาหนึ่ง  เช่น  สร้างความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงวิชาจิตวิทยากับสังคมวิทยาเข้าด้วยกัน โดยใช้หลักจิตวิทยาอธิบายเหตุการณ์ในสังคมในวิชาประวัติศาสตร์  เป็นต้นว่าใช้กฎการขาดความมั่นคงและการถดถอย (Frustration and Regression) แสดงให้เห็นว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้อาวุธเข้าทำร้ายประเทศเพื่อนบ้าน ก็เนื่องจากประชาชนในประเทศถูกกดดันมาเป็นเวลานาน ในทำนองเดียวกันกฎเกณฑ์ของวิชาวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ฯลฯ ก็อาจนำมาเชื่อมโยงกันได้
                   การนำเอากฎเกณฑ์ของวิชาหนึ่งไปใช้กับอีกวิชาหนึ่ง ดังได้กล่าวมานี้ เป็นผลให้เกิดการหลอมวิชา (Fusion)  และเกิดหลักสูตรอีกแบบหนึ่งเรียกว่า หลักสูตรบูรณาการ (The Integrated Curriculum)
       3. สัมพันธ์ในแง่ศีลธรรมและหลักปฏิบัติในสังคม วิธีนี้คล้ายวิธีที่  2 แค่แตกต่างกันตรงที่ว่า แทนที่จะใช้หลักเกณฑ์หรือแนวความคิดเป็นตัวเชื่อมโยง กลับใช้หลักศีลธรรมและหลักปฏิบัติของสังคมเป็นเครื่องอ้างอิง ตัวอย่างเช่น อาจเชื่อมโยงแนวความคิดของผู้ประพันธ์วรรณคดี  ยุคหนึ่ง เข้ากับระบบการปกครองในยุคนั้นก็ได้ คือใช้วรรณคดีสะท้อนความคิดด้านการปกครอง ทำให้มองเห็นแนวความคิดได้เด่นชัดยิ่งขึ้น
              หลักสูตรสัมพันธ์วิชาที่ปรับปรุงขึ้นมาจากหลักสูตรรายวิชานี้  มีประโยชน์หลายอย่างที่สำคัญคือ  ช่วยให้ผู้เรียนมีความสนใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น  ทำให้ผู้เรียนมองเห็นโปรแกรมการเรียนการสอนเป็นส่วนรวมชัดเจนขึ้น  ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีมากขึ้นและกว้างขวางกว่าเดิมและเปิดทางให้สามารถขยายงานด้านตำราเรียนได้กว้างขวางขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องที่ยังแก้ไม่ได้ก็คือ  รูปแบบของหลักสูตรยังคงเป็นหลักสูตรรายวิชาอยู่นั่นเอง  ในปัจจุบันหลักสูตรสัมพันธ์วิชายังมีใช้ อยู่เพียงในบางประเทศที่ยังคงใช้หลักสูตรรายวิชาเป็นหลัก

8. หลักสูตรเกลียวสว่าน    (Spiral Curriculum)         
              ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในระหว่างผู้จัดทำหลักสูตรด้วยกันเอง  ได้แก่  ข้อสงสัยที่ว่าทำไมจึงต้องจัดหัวข้อเนื้อหาในเรื่องเดียวกันซ้ำๆ กันอยู่เสมอในเกือบทุกระดับชั้น  แม้จะได้มีผู้พยายามกระทำตามความคิดที่จะจัดสรรเนื้อหาในแต่ละเรื่องหรือแต่ละหัวข้อให้จบในแต่ละระดับชั้น  แต่ในทางปฏิบัติและในข้อเท็จจริงยังกระทำไม่ได้  เนื่องจากว่าเนื้อหาหรือหัวข้อต่างๆ จะประกอบด้วยความกว้างและความลึก  ซึ่งมีความยากง่ายไปตามเรื่องรายละเอียดของเนื้อหา  นักพัฒนาหลักสูตรยอมรับในปรากฏการณ์นี้และเรียกการจัดเนื้อหาเรื่องเดียวกันไว้ในทุกระดับชั้นหรือหลายๆ ระดับชั้น  แต่มีรายละเอียดและความยากง่ายแตกต่างกันไปตามวัยของผู้เรียนว่า  หลักสูตรเกลียวสว่าน
              1. ความหมาย
              หลักสูตรเกลียวสว่าน หรือบันไดวน (Spiral Curriculum) หมายถึง การจัดเนื้อหาหรือหัวข้อเนื้อหาเดียวกันในทุกระดับชั้น แต่มีความยากง่ายและความลึกซึ้งแตกต่างกัน กล่าวคือ ในชั้นต้นๆ จะสอนในเรื่องง่ายๆ ตื้นๆ แล้งค่อยๆ เพิ่มความยากและความลึกลงไปเรื่อยๆ ตามระดับชั้นที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

              2. ที่มาของแนวความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน
              บรูเนอร์  (Bruner, 1960)  เป็นนักการศึกษาท่านหนึ่งที่มีบทบาทมากในการเผยแพร่ความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน  บรูเนอร์มีความเชื่อว่า  ในเนื้อหาของแต่ละเนื้อหาวิชาจะมีโครงสร้างและการจัดระบบที่แน่นอน  จึงควรนำความจริงในข้อนี้มาใช้กับการจัดหลักสูตร  โดยการจัดลำดับเนื้อหาให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ  อย่างมีระบบ  จากง่ายไปหายาก  จากแนวความคิดนี้จึงมีการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะบันไดวน  หรือเกลียวสว่าน  คือให้ลึกและกว้างออกไปเรื่อยๆ  ตามอายุและพัฒนาการของเด็ก
              การพัฒนาหลักสูตรควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความคิด  หรือหัวข้อเนื้อหาพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก  จนกว่านักเรียนได้เรียนรู้ความคิดรวมของเรื่องนั้นๆ  บรูเนอร์เชื่อว่า  เราสามารถสอนเรื่องใดๆ  ให้แก่นักเรียนที่มีอายุเท่าใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าเด็กจะมีความพร้อมเต็มที่  และเขาได้ย้ำในประเด็นนี้ว่า  เป็นไปได้ที่จะสอนความคิดและตัวแปรต่างๆ ให้แก่เด็กได้ตั้งแต่เยาว์วัย  และไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเวลานั้นๆ
              จากการนำแนวความคิดของหลักสูตรเกลียวสว่านไปใช้กับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์  ฟรอสท์และโรแลนด์  (Frost and Roland,1969)  ได้ยืนยันว่า  หลักสูตรเกลียวสว่านช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนอย่างมีลำดับขั้นตอนของโครงสร้างวิชาวิทยาศาสตร์บูรณาการเข้ากับกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ได้อย่างดี  ได้ยืนยันเพิ่มเติมว่า  ไม่เพียงแต่มีการนำหัวข้อเนื้อหาเดียวกันมาศึกษาในระดับชั้นที่ต่อเนื่องกันเท่านั้น  แต่ยังมีการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและวัยอีกด้วย  จึงสรุปได้ว่า  เนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กกับนักวิชาการระดับสูงแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความเข้มเท่านั้น  ไม่ใช่ประเภทหรือชนิด
              3. หลักสูตรเกลียวสว่านตามแนวคิดของดิวอี้
              ดิวอี้  (Dewey, 1938)  มีแนวคิดเรื่องหลักสูตรสว่านแตกต่างไปจากบรูเนอร์ กล่าวคือ ดิวอี้  มีความเชื่อว่า การเจริญงอกงามขึ้นอยู่กับการฝึกใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาที่ได้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าจากปัญหาที่กำหนดให้จากภายนอก  และในขณะที่ผู้เรียนฝึกใช้สติปัญญากับการแก้ปัญหาเหล่านี้  เขาจะได้ความคิดใหม่ๆ  และพลังในการทำงาน  ซึ่งจะเป็นฐานสำหรับแก้ปัญหาอื่นๆ  อีกต่อไป  ในการปฏิบัติเช่นนั้นผู้เรียนจะเข้าใจถึงความสำคัญระหว่างกันของความรู้ในสาขาต่างๆ  และการประยุกต์ความรู้ไปใช้ในเชิงสังคมได้กว้างขวางขึ้น  กระบวนการจึงเป็นเสมือนเกลียวสว่านที่มีลักษณะต่อเนื่องและรับช่วงกันไป
              ดังนั้น  เกลียวสว่านของดิวอี้จึงไม่ได้เริ่มที่ประสบการณ์ของผู้เรียนแต่เพียงประการเดียว  ซึ่งนอกเหนือไปจากเนื้อหาวิชาที่จัดไว้สำหรับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แต่มองประสบการณ์ทางการศึกษาว่า  เป็นการขยายความสนใจและสมรรถภาพของผู้เรียนไปสู่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่สูงขึ้นและกว้างขึ้น  ดังนั้น  การเลือกเนื้อหาสาระที่จะต้องก้าวไปเรื่อยๆ จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับการเจริญงอกงามของประสบการณ์  ยกตัวอย่าง  เช่น  การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์นั้น  ดิวอี้ได้ยืนยันว่าไม่แต่การนำไปสู่ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้นเท่านั้น  แต่จะต้องนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาของสังคมในขอบข่ายที่กว้างขึ้นและที่ดีขึ้นด้วย 

9. หลักสูตรสูญ ( Null Curriculum)
        หลักสูตรสูญหรือ Null Curriculum เป็นความคิดและคำที่บัญญัติขึ้นโดยไอส์เนอร์ (Eisner,1979)แห่งมหาวิทยาลัยแตนฟอร์ด   สหรัฐอเมริกา หลักสูตรสูญ เป็นชื่อประเภทของสูตรที่ไม่แพร่หลาย และไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในระหว่างนักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรด้วยกัน
              เขาได้นิยามหลักสูตรสูญว่า   เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มีปรากฏอยู่ให้เห็นในแผนการเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอนเขาได้อธิบายถึงความเชื่อของเขาในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในตัวหลักสูตรและสิ่งที่ครูไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า ความรู้หรือการขาดสิ่งที่ควรจากรู้ไม่ได้เป็นแต่เพียงความว่างเปล่าที่หลายคนอาจคิดว่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด  แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การขาดความรู้ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบที่สำคัญมาก ในแง่ที่ทำให้ผู้เรียนขาดทางเลือกที่เขาอาจนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตของเขาได้ นั้นก็คือ  การขาดความรู้บางอย่างไปอาจทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งขาดความสมบูรณ์ได้
              นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า หลักสูตรสูญได้แก่ ทางเลือกที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้ให้ผู้เรียน ความคิดและทรรศนะที่ผู้เรียนไม่เคยสัมผัสและเรียนรู้สิ่งที่ผู้เรียนจะนำไปประยุกต์ใช้ได้แต่มีไว้ไม่พอ รวมทั้งความคิดและทักษะที่ไม่ได้รวมไว้ในกิจกรรมทางปัญญา 
          
       1. ประเด็นที่ควรพิจารณา
              *ในประเด็นของกระบวนการทางปัญญานั้น ไอส์เนอร์ หมายถึง กระบวนการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการรู้ โดยเริ่มจากการรับรู้สิ่งเร้าต่างๆ ไปจนถึงการคิดหาเหตุผลทุกรูปแบบ เขาได้มองลึกลงไปว่า แนวความคิดทางด้านศึกษาศาสตร์ได้จำกัดความหมายของกระบวนการทางปัญญาให้แคบลงไป  และโรงเรียนก็พยายามเน้นและพัฒนาความคิดของนักเรียนให้อยู่ภายในขอบเขตที่กำจัด โดยเขาเชื่อว่ายังมีรูปแบบการคิดที่เป็นประโยชน์อีกมาก แต่ไม่เปิดเผยออกมาทางวาจา รวมทั้งการคิดที่ขาดเหตุผลเชิงตรรกะ รูปแบบเหล่านี้จะทำหน้าที่ของมันผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเห็น การฟังการเปรียบเทียบ และการสังเคราะห์   กระบวนการคิดแนวนี้ทางโรงเรียนให้ความสนใจน้อยมาก ทั้งๆ ที่การติดตามรูปแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นและพัฒนาตัวมันเองขึ้นมาแน่ๆ นอกโรงเรียน
              จากข้อเท็จจริงตามประเด็นแรกนี้ สรุปได้ว่า โรงเรียนสร้างผลกระทบให้เกิดแก่ผู้เรียนได้ โดยไม่เพียงแต่จากสิ่งที่สอนเท่านั้น  แต่จากสิ่งที่ควรสอนแต่ไม่นำมาสอนอีกด้วย  เพราะสิ่งที่นักเรียนไม่มีโอกาสพิจารณาสิ่งที่เขาไม่มีโอกาสรู้และกระบวนการที่เขาไม่มีโอกาสใช้ จะมีผลต่อการดำรงชีวิตของนักเรียน
              จากเหตุผลและแนวคิดดังกล่าวนี้ ถือได้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์  กฎหมาย จิตวิทยาและมนุษยวิทยา เป็นหลักสูตรสูญ ของหลักสูตรระดับประถมและมัธยมศึกษา
             
              *ทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้  เป็นมิติที่ไอส์เนอร์ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดเรื่องหลักสูญได้กำหนดเอาไว้เป็นหลักในการพิจารณาสิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตรต่อมาฟลินเดอร์และคณะ (Finders, et.al, 1986) ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันเดียวกันกับไอส์เนอร์ ได้เสนอประเด็นการพิจารณาเพิ่มขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่งอันเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาทางด้านอารมณ์และความรู้สึก (affect) อันประกอบด้วยค่านิยม เจตคติ   และอารมณ์ โดยนัยเดี่ยวกัน หลักสูตรสูญตามประเด็นที่สามนี้ ได้แก่ การที่หลักสูตรไม่ได้คำนึงหรือบรรจุความรู้สึก เจตคติ และค่านิยมในบางด้านและบางเรื่องเอาไว้
              2. การนำความคิดของหลักสูตรสูญไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตร
              ถึงจุดนี้  ผู้เรียนเข้าใจแล้วว่า  หลักสูตรสูญได้แก่สิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอนหรือสิ่งที่ไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร  และสิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตรจำแนกออกได้เป็น 3 ด้านคือ สิ่งที่ขาดหายไปในรูปของกระบวนการทางปัญญา เนื้อหา และด้านความรู้-ค่านิยม
             คำตอบก็คือ  ไม่ใช่  ที่ตอบเช่นนี้ก็โดยเหตุผลที่ว่า  ตามปกติเวลานักพัฒนาหลักสูตรจะกำหนดเนื้อหาลงไปในหลักสูตรนั้น  เขาจะคำนึงถึงความจำเป็น  ความเหมาะสมและความสอดคล้องของเนื้อหาที่มีต่อผู้เรียน  ดังนั้น  เมื่อจะพิจารณาว่ามีกระบวนการใด   หรือเนื้อหาใดขาดไปจากหลักสูตรก็จะต้องมีการกำหนดกรอบ (frame of reference) ที่เป็นกลางๆ เอาไว้อ้างอิง  ถ้าหากหลักสูตรไม่ได้ครอบคลุมถึงสิ่งที่เป็นเนื้อหากลางๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเรียนแล้ว  หลักสูตรเหล่านั้นก็จะด้อยคุณค่าทันที  จากตัวอย่างการพิจารณานำวิชาตรรกวิทยามาบรรจุในหลักสูตรอนุบาลนั้น ต้องถือว่า หลักสูตรสากลของอนุบาลศึกษาจะต้องไม่มีการเรียนวิชาตรรกวิทยา

สรุป(Summary)
                   ความคิดเกี่ยวกับ “ประเภทของหลักสูตร” ที่กล่าวมานี้ จะมีประโยชน์ต่อการประเมินผลและการวิเคราะห์หลักสูตร เป็นการช่วยในนักพัฒนาหลักสูตรได้หันมาพิจารณาหลักสูตรให้ครบอีกครั้งว่า จุดหมายและเนื้อหาของหลักสูตรที่กำหนดไว้แล้วนั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง มีเนื้อหาใด กระบวนการคิด และความรู้สึกประเภทใดที่เป็นประโยชน์ และสำคัญควรที่ผู้เรียนรู้ แต่ไม่มีในหลักสูตรก็จะได้ประชุมหารือกันระหว่างนักพัฒนาหลักสูตร และผู้รับผิดชอบ เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น