วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ตรวจสอบทบทวน(Self-Test)และกิจกรรม(Activity) สัปดาห์ที่ 5

ตรวจสอบทบทวน
1. การนำกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมาใช้ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร จะมีสาระสำคัญในประเด็นใดบ้าง
1. การวินิจฉัยความต้องการ (diagnosis of needs) การศึกษาความต้องการเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ผู้พัฒนาหลักสูตร (ครู) จะต้องวินิจฉัยประสบการณ์ ความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเพื่อมากำหนดเนื้อหาของหลักสูตร
2. การกำหนดวัตถุประสงค์ (formulation of objectives) เมื่อทราบความต้องการของผู้เรียนหรือของสังคมแล้ว ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ซึ่งจะใช้กำหนดเนื้อหาว่าจะมีความเฉพาะเจาะจงเพียงใดและวิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
3. การเลือกเนื้อหา (selection of content) ผู้พัฒนาหลักสูตรเลือกเนื้อหาสาระที่จะนำมาให้ผู้เรียนศึกษาโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ เนื้อหาที่เลือกมานั้นจะต้องมีความตรง (validity) ตามวัตถุประสงค์และมีนัยสำคัญ (significance) ต่อผู้เรียน
4. การจัดองค์ประกอบของเนื้อหา (organization of content) เนื้อหาที่คัดเลือกมาได้นั้น ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องนำมาจัดเรียงลำดับ (sequence) โดยใช้เกณฑ์หรือระบบบางอย่าง ทั้งยังจะต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงและการเน้น (focus) ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ที่จะสอนและระดับของผู้เรียน
5. การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ (selection of learning experiences) ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องพิจารณาเรื่องของการจัดเรียงลำดับประสบการณ์ และจะต้องเลือกวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับเนื้อหาตามวัตถุประสงค์
6. การจัดองค์ประกอบของประสบการณ์การเรียนรู้ (organization of learning experiences) การจัดองค์ประกอบของประสบการณ์การเรียนรู้ ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การสอนที่สำคัญคือการพัฒนากระบวนการสร้างมโนทัศน์ (strategic of concept attainment) และคำนึงถึงคำถามสำคัญ ได้แก่ จะทำอย่างไรให้เนื้อหาสาระสอดคล้องกับประสบการณ์และความสนใจของผู้เรียน และจะทำอย่างไรให้การจัดประสบการณ์ การเรียนรู้สอดคล้องและตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล
7. การวินิจฉัยว่าสิ่งที่จะประเมินคืออะไรและจะใช้วิธีการและเครื่องมือใดในการประเมิน (determination of what to evaluate and of the ways and means of doing it) นักหลักสูตร
จะต้องประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร โดยจะต้องตอบคำถามว่า จะประเมินคุณภาพของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้อย่างไรและจะใช้เครื่องมือและวิธีการใดในการประเมิน
1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาหลักสูตรท้องถิ่น

กิจกรรม
หลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึงหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน  หลักสูตรท้องถิ่นจะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ผู้เรียนแสวงหาองค์ความรู้ที่ตอบสนองกับวิถีชีวิตของตนเอง  ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์  ผู้เรียนจะเรียนรู้ตามสภาพจริงของตนเอง  สามารถนำความรู้ไปใช้การพัฒนาตนเอง  ครอบครัว และชุมชนได้  ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 3 )  จึงอาจสรุปได้ว่า  หลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้กับกลุ่มผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จัดตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนในท้องถิ่นนั้นๆ  เป้าหมายหลัก คือ ต้องการให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนให้ดีขึ้น
หลักการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  หลักสูตรท้องถิ่น มีหลักในการพัฒนาที่ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายได้เกิดปัญญา หรือเกิดการเรียนรู้ ดังนี้ ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 4)
1.  การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้  มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้สภาพปัญหา  วิธีการแก้ปัญหา และการปรับปรุงอย่างลึกซึ่ง คือ ให้รู้และเข้าใจอย่างกระจ่างว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเองได้
2.  การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติจริง  มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ในการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อการปฏิบัติจริง  จนเกิดความชำนาญและสามารถปฏิบัติได้ในทุกสถานการณ์
3.  การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน  มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ เพื่อเป็นผู้มีคุณธรรม  จริยธรรมด้วยการมีความเชื่อ และตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกัน  พึ่งพาอาศัยกันและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
4.  การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพ   เป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่งอกงาม  ปรับปรุงบุคลิกภาพอย่างมั่นใจ เน้นการมีเหตุผลและมีวิสัยทัศน์
ความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่น  หลักสูตรท้องถิ่น  เป็นหลักสูตรบูรณาการที่ผู้เรียน ชุมชนและครูร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียน เรียนจากชีวิต  เรียนแล้วเกิดการเรียนรู้สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตอย่างมีคุณภาพและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข  การเรียนการสอนจะสอนตามความต้องการของผู้เรียน  โดยครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ  ผู้เรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  ดังนั้น หลักสูตรท้องถิ่นจึงมีความสำคัญ  ดังต่อไปนี้  ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน.2543 : 5 )
             1.  เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองการเรียนรู้ของรู้เรียนเฉพาะเนื้อหาสาระของหลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนตามสภาพปัญหาที่เป็นจริง
            2.  ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้มีความหมายต่อผู้เรียน  เพราะผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
            3.  ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้  เพื่อที่จะมาใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของตนเองในวันข้างหน้า  รวมทั้งวิธีวิเคราะห์  สังเคราะห์ข้อมูล  เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตนเอง
            4.  ชุมชนและภูมิปัญญาในชุมชน  มีโอกาสมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน  ซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน
ลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่น  ลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่น  มีลักษณะดังต่อไปนี้  ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 5 )
            1.  เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความหลากหลายของปัญหามุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับเพศ  วัย  มีความสมดุลทั้งด้านความรู้  ความคิด และทักษะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริงจนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นได้อย่างเหมาะสม
            2. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ท้องถิ่น  มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง  เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ท้องถิ่นตนเอง  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับชีวิตจริงและการทำงาน  รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นของตนมีการส่งเสริมให้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการศึกษา
            3.  เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริง  และมุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ  ไม่แยกส่วนของกระบวนการเรียนรู้  โดยผู้เรียนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำให้คำปรึกษา  และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน  อันจะนำไปสู่การคิดเป็น  ทำเป็น  และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ  ได้
            4.  เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
            5.  เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมในด้านศีลธรรม  จริยธรรมและการธำรงไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตย  การรักษาสิ่งแวดล้อม  เกิดศรัทธาเชื่อมั่นในภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนและของประเทศชาติ
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน ดังนี้  ( กองพัฒนาการศึกษานอโรงเรียน. 2543 : 13 )
            ขั้นที่ 1  การสำรวจสภาพปัญหาของชุมชน
            ขั้นที่ 2  การวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชนและความต้องการของผู้เรียน
            ขั้นที่ 3  เขียนผังหลักสูตร
            ขั้นที่ 4  เขียนหลักสูตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น