วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา 11 ฉบับ


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา 11 ฉบับ

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่1   (พ.ศ. 2504-2509)สาระสำคัญ  มีดังนี้
            (1)  เน้นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  ได้แก่  ทางหลวงแผนดิน  ทางรถไฟ  ประปา  ไฟฟ้า  และ เขื่อนชลประทาน เช่น เขื่อนภูมิพล  เขื่อนอุบลรัตน์
            (2)  ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในภาคอุตสาหกรรม  เพื่อทดแทนการนำเข้า
            (3) จัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค  คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯ  เศรษฐกิจขยายตัวสูง  มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น  แต่เกิดปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม  เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ในเมืองและเป็นผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ
 2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2  (พ.ศ. 2510-2514)สาระสำคัญ มีดังนี้
            (1)  เน้นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  คล้ายแผนฯฉบับที่  1
            (2)  สนับสนุนการลงทุนของชาวต่างชาติ  และพัฒนาการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
            (3)  มุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ  โดยกระจายการศึกษาและการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง  และเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯการกระจายรายได้ยังกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนนี้
3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3  (พ.ศ. 2515-2519)สาระสำคัญ มีดังนี้
            (1)  เน้นการพัฒนาสังคมมากขึ้น  ทั้งการศึกษา  การอนามัยและสาธารณสุข
            (2)  กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเพิ่มของประชากรเป็นครั้งแรก ให้เหลือร้อยละ 2.5  ต่อปี  เมื่อสิ้นแผนฯ
            (3)  กระจายความเจริญสู่ชนบทให้มากขึ้น  และเน้นการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯเกิดปัญหาอุปสรรคในเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ  (ฝนทิ้งช่วง) การขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่  และความผันผวนทางการเมือง  โดยเกิดเหตุการณ์ 14  ตุลาคม  พ.ศ. 2516 และเหตุการณ์  6  ตุลาคม  พ.ศ. 2519  ทำให้เศรษฐกิจของประเทศซบเซาและมีการว่างงานสูง
4.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4  (พ.ศ. 2520-2524) สาระสำคัญ มีดังนี้
            (1)  เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ  เพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่  3  โดยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร  อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน
            (2)  ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
            (3)  เน้นสร้างความเป็นธรรมในสังคม  โดยเน้นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯการพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรม  การค้า  และการบริการ  ขยายตัวตามเป้า  การขึ้นราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปค(OPEC)  ทำให้สินค้ามีราคาแพงและเกิดเงินเฟ้อ  รายจ่ายภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาขาดดุลการค้า
5. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5  (พ.ศ. 2525-2529)สาระสำคัญ มีดังนี้
            (1)  เน้นการพัฒนาชนบท  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน  โดยขยายบริการพื้นฐานของรัฐไปสู่ชนบทให้มากขึ้น  เช่น  การสาธารณสุข  การสาธารณูปโภค ฯลฯ  แก้ไขปัญหาการว่างงาน และเร่งการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม
            (2)  ฟื้นฟูฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ลดการขาดดุลการค้า เร่งระดมเงินออม  เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  และกระจายอุตสาหกรรมไปยังส่วนภูมิภาค
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้
                (1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด  เนื่องมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก  การแข่งขันและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
                (2)เกิดปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเงิน  เพราะการใช้จ่ายเกินตัวทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน  และขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
                (3)ความเสื่อมโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6  (พ.ศ. 2530-2534)สาระสำคัญ มีดังนี้
            (1)  เน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ลดหนี้สินต่างประเทศ  ปรับปรุงระบบการผลิตและการตลาด  เพื่อให้การส่งออกสินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมควบคู่กันไป
            (2)  เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  การจ้างงาน และกระจายรายได้  แก้ไขปัญหาความยากจน
            (3)  เน้นพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารในภาครัฐ  เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ   และส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้
                (1)  ฐานะทางการเงินและการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ  คนไทยมีรายได้และการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น  ภาระหนี้สินของประเทศลดลง  ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
                (2)  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าเป้าหมาย  ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออก การลงทุน  และรายได้จากการท่องเที่ยว  ทำให้เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างสู่ระบบเศรษฐกิจสากลมากขึ้น
                (3)  ผลกระทบ คือ ความเสื่อมโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ระหว่างคนเมืองและคนในชนบทมีมากขึ้น
7. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7  (พ.ศ. 2535-2539)สาระสำคัญ มีดังนี้
            (1)  เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน  และสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจควบคู่กับสังคม
            (2)  เน้นรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ  โดยพัฒนาการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม  เกษตรกรรม และการส่งออก
            (3)  เน้นการกระจายรายได้และพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท
            (4)  เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  คุณภาพชีวิต  และสิ่งแวดล้อม
            (5)  เน้นพัฒนากฎหมาย  รัฐวิสาหกิจ  และระบบราชการ  ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้
                (1)  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย  รายได้ประชาชาติและรายได้เฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น
                (2)  การแก้ปัญหาความยากจนและกระจายรายได้ยังไม่ได้ผล  ช่องว่าในรายได้ระหว่างคนเมืองกับคนในชนบทยิ่งห่างกันมากขึ้น
                (3)  ความเสื่อโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น   การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมขยายตัวอย่างรวดเร็ว
8. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8  (พ.ศ. 2540-2544)สาระสำคัญ มีดังนี้
         (1)  เน้นพัฒนาคน  หรือเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถในด้านต่าง ๆ
          (2)  เน้นการพัฒนาที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะเกิดต่อการพัฒนาคน
            ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯในช่วงปลายปี  พ.ศ. 2540  ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดการว่างงาน  ธุรกิจล้มละลาย  และปัญหาหนี้สินจากต่างประเทศ  จนนำไปสู่การขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากวิกฤติการณ์ครั้งนี้จึงได้ปรับวัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
 9. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9  (พ.ศ. 2545-2549) สาระสำคัญ มีดังนี้
            (1.)ได้อัญเชิญ  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ  โดยยึดทางสายกลาง  ความพอประมาณ  และความมีเหตุผล  เพื่อให้ประเทศรอดพ้นวิกฤติและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
            (2.)  ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพ  ทั้งภาคการเงินและการคลัง  ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้
            (3.)  วางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง  ยั่งยืน  สามารถพึ่งตนเองได้  และรู้เท่ากันโลก  โดยพัฒนาคุณภาพคน  ปฏิรูปการศึกษา  ปฏิรูปสุขภาพ  สร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน  มีการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
            (4.) แก้ไขปัญหาความยากจน  โดยเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง  ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา  การประกอบอาชีพ  การมีรายได้  และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
10. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)มีสาระสำคัญ คือ
            แผนพัฒนาฯ  ฉบับที่  10  ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ  ควบคู่กับแนวคิดที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา  เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล  ยั่งยืน และ เป็นธรรม  โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้มุ่งสู่  “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”
11. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)มีสาระสำคัญ คือ
            แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11เน้นการพัฒนาให้เกิด “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความเสมอภาคเป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” ดังนี้

            (1.) เร่งสร้างความสงบสุขให้สังคมโดยร่วมมือกันสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นหลักปฏิบัติร่วมกันทั้งสังคมพร้อมทั้งเสริมสร้างภาคราชการการเมืองและประชาสังคมให้เข้มแข็งภายใต้หลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน
            (2.) มุ่งพัฒนาคนให้มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในโลกได้อย่างต่อเนื่องพัฒนาความสามารถสติปัญญาและจิตใจให้พร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศสู่สังคมฐานความรู้
            (3.) เพิ่มชนชั้นกลางให้กระจายทุกพื้นที่ของประเทศเพราะชนชั้นกลางเป็นกำลังสำคัญในการประสานประโยชน์และพัฒนาประเทศที่มีความสมดุลพร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกชนชั้นรู้จักหน้าที่ของตนเองและร่วมกันพัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าและน่าอยู่
            (4.) พัฒนาภาคเกษตรให้คงอยู่กับสังคมไทยและผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับทุกคน เร่งพัฒนาความสามารถของเกษตรกรในการผลิตพืชอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณมากพอที่จะเลี้ยงดูคนในประเทศและส่งเป็นสินค้าออกสนองความต้องการของประเทศต่างๆสามารถเป็นผู้นำการผลิตและการค้าในเวทีโลกรวมทั้งรักษาความโดดเด่นของอาหารไทยที่ต่างประเทศชื่นชอบ
            (5.) ปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น