วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2562

กระบวนการแก้ปัญหาขั้นนำ

กระบวนการแก้ปัญหา 
     กระบวนการที่ทำให้ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาควรมีขั้นตอน ดังนี้
1) การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา ในการที่จะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำต่างๆ ในปัญหา แล้วแยกปัญหาให้ออกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องหา แล้วมีอะไรเป็นข้อมูลที่กำหนด และมีเงื่อนไขใดบ้าง หลังจากนั้นจึงพิจารณาว่าข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดให้นั้นเพียงพอที่จะหาคำตอบของปัญหาได้หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ ให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้
                1.1  การระบุข้อมูลเข้า  ได้แก่ การพิจารณาข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดมากับปัญหา
                1.2  การระบุข้อมูลออก  ได้แก่ การพิจารณาเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องหาคำตอบหรือผลลัพธ์
                1.3  การกำหนดวิธีประมวลผล  ได้แก่ การพิจารณาวิธีหาคำตอบ หรือผลลัพธ์
2) การวางแผนในการแก้ปัญหา จากการทำความเข้าใจกับปัญหาจะช่วยให้เกิดการคาดคะเนว่าจะใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ประสบการณ์เดิมของผู้แก้ปัญหาจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ฉะนั้นในการเริ่มต้นจึงควรจะเริ่มด้วยการถามตนเองว่า “เคยแก้ปัญหาในทำนองเดียวกันนี้มาก่อนหรือไม่” ในกรณีที่มีประสบการณ์มาก่อนควรจะใช้ประสบการณ์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา สิ่งที่จะช่วยให้เราเลือกใช้ประสบการณ์เดิมได้ดีขึ้นคือ การมองดูสิ่งที่ต้องการหา และพยายามเลือกปัญหาเดิมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เมื่อเลือกได้แล้วก็เท่ากับมีแนวทางว่าจะใช้ความรู้ใดในการหาคำตอบหรือแก้ปัญหา โดยพิจารณาว่าวิธีการแก้ปัญหาเดิมนั้นมีความเหมาะสมกับปัญหาหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ได้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ในกรณีที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาทำนองเดียวกันมาก่อน ควรเริ่มจากการมองดูสิ่งที่ต้องการหา แล้วพยายามหาวิธีการเพื่อให้ได้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ต้องการหากับข้อมูลที่มีอยู่ เมื่อได้ความสัมพันธ์แล้วต้องพิจารณาว่าความสัมพันธ์นั้นสามารถหาคำตอบได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็แสดงว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรืออาจจะต้องหาความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นต่อไป เมื่อได้แนวทางในการแก้ปัญหาแล้วจึงวางแผนในการแก้ปัญหาเป็นขั้นตอน
 3) การดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ เมื่อได้วางแผนแล้วก็ดำเนินการแก้ปัญหา ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาอาจทำให้เห็นแนวทางที่ดีกว่าวิธีที่คิดไว้ ก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนได้
 4) การตรวจสอบ เมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาแล้วจำเป็นต้องตรวจสอบว่า วิธีการแก้ปัญหาได้ผลลัพธ์ถูกต้องหรือไม่
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตัวอย่างที่ 1  การวางแผนทำบะหมี่น้ำโดยใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยสามารถจำลองความคิดเป็นข้อความได้ดังนี้
1) การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา
    1.1 การระบุข้อมูลเข้า คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
    1.2 การระบุข้อมูลออก คือ บะหมี่น้ำ
    1.3 การกำหนดวิธีประมวลผล คือ การต้ม
2) การวางแผนในการแก้ปัญหา
    1) เริ่มต้น
    2) ต้มน้ำให้เดือด
    3) ใส่บะหมีลงในน้ำเดือด
    4) รอ 2 นาที
    5)  ใส่เครื่องปรุงแล้วยกหม้อลงจากเตา
    6) จบ
3) การดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ 
    ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อ 2
4) การตรวจสอบ
    บะหมี่น้ำที่ต้มสุก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตัวอย่างที่ 2  การคำนวณหาพื้นที่สามเหลี่ยมซึ่งกำหนดฐานและความสูงให้
1) การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา
    1.1 การระบุข้อมูลเข้า คือ ความยาวฐานและความสูง
    1.2 การระบุข้อมูลออก คือ พื้นที่สามเหลี่ยม
    1.3 การกำหนดวิธีประมวลผล คือ การคำนวนหาพื้นที่
2) การวางแผนในการแก้ปัญหา
    1) เริ่มต้น
    2) กำหนดค่าฐาน
    3) กำหนดค่าความสูง
    4) คำนวณพื้นที่สามเหลี่ยมจากสูตร พ.ท.สามเหลี่ยม = 1/2 x ฐาน x สูง
    5)  แสดงผลลัพธ์ที่ได้
    6) จบ
3) การดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ 
    ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อ 2
4) การตรวจสอบ
    แทนค่า ฐานและสูง ตรวจสอบความถูกต้อง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตัวอย่างที่ 3  การวางแผนไปโรงเรียน
1) การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา
    1.1 การระบุข้อมูลเข้า คือ การตื่นนอน
    1.2 การระบุข้อมูลออก คือ ไปถึงโรงเรียน
    1.3 การกำหนดวิธีประมวลผล คือ การเดินทาง
2) การวางแผนในการแก้ปัญหา
    1) เริ่มต้น
    2) ตื่นนอน
    3) ง่วงใช่ไหม
    4) ถ้าง่วงนอนต่อ 10 นาที แล้วตื่นไปอาบน้ำและแต่งตัว
    5)  ถ้าไม่ง่วงอาบน้ำและแต่งตัว
    6) ไปโรงเรียน
    7) จบ
3) การดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ 
    ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อ 2
4) การตรวจสอบ
    ตรวจสอบว่าถึงโรงเรียนหรือยัง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตัวอย่างที่ 4  คำนวณหาผลรวมตั้งแต่เลข 1-8
1) การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา
    1.1 การระบุข้อมูลเข้า คือ ตัวเลข 1,2,3,4,5,6,7,8
    1.2 การระบุข้อมูลออก คือ ผลรวม
    1.3 การกำหนดวิธีประมวลผล คือ การบวก
2) การวางแผนในการแก้ปัญหา
    1) เริ่มต้น 
    2) x=1+2
    3) x=x+3
    4) x=x+4
    5) x=x+5
    6) x=x+6
    7) x=x+7
    8) x=x+8
    9) แสดงผลรวม x
    10) จบ
3) การดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ 
    ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อ 2
4) การตรวจสอบ
    ตรวจสอบว่า 36 = 1+2+3+4+5+6+7+8

กระบวนการแก้ปัญหา




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น