วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

บทที่ 9 การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา


บทที่  9
การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

มโนทัศน์(Concept)
              ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่กำหนดขึ้นเป็นการพัฒนาหลักสูตรครบวงจรคือ เริ่มตั้งแต่การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน การร่างหลักสูตร การตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ในสถานการณ์จริง รวมทั้งการประเมินผลหลักสูตร โดยหวังว่าขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรที่สมบรูณ์ที่จะทำให้ได้หลักสูตรมีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1. การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในด้านต่างๆ 2. การร่างหลักสูตร 3. การตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร 4. การนำหลักสูตรไปใช้ และ 5. การประเมินผลหลักสูตร

ผลการเรียนรู้(Learning Outcome)
            1. มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักสูตรสถานศึกษา
2.  สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาได้อย่างถูกต้อง

สาระเนื้อหา(Content)

              การจัดการศึกษาเท่าที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ใช้ตำรา เอกสาร รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่จัดพิมพ์จากหน่วยงานกลางเป็นหลักในการเรียนการสอน ถึงแม้ว่าสภาพบริบทและแวดล้อมโรงเรียนจะแตกต่างกัน แต่เนื้อหาสาระในการจัดการเรียนการสอนกลับเหมือนกันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามให้โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรดังที่กำหนดไว้ในคู่มือ เปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่นได้ ทั้งนี้เนื่องจากครูขาดความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งทักษะในการพัฒนาหลักสูตร ขาดการสนับสนุนจากผู้บริหารและขาดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น การจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง เน้นการท่องจำมากกว่าปฏิบัติจริง ดังนั้นการเปลี่ยนบทบาทของโรงเรียนจากการเป็นผู้ใช้หลักสูตรที่มีผู้จัดทำให้มาเป็นการพัฒนาหลักสูตรด้วยตนเอง จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมให้บุคลากรในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนหรือรู้แบบการพัฒนาหลักสูตรและมีความสามารถเพียงพอที่จะนำความรู้ไปใช้พัฒนาหลักสูตรด้วยตนเองได้ ทั้งนี้โดยหวังว่าหลักสูตรที่โรงเรียนพัฒนาขึ้น จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นจริง สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้กับการนำไปใช้ ก่อให้เกิดความรัก ผูกพันกับชุมชนที่อยู่อาศัย นอกจากนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียน เนื่องจากหลักสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนก็คือ การให้บุคลากรในโรงเรียนและชุมชนร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินทางหลักสูตร ซึ่งมีทั้งการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล เพื่อให้การศึกษาของเยาวชนเป็นไปตามความต้องการของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ สมดังเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาดังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

1.  ความจำเป็นของการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
              ข้อกฎหมายที่สถานศึกษาต้องไปดำเนินการให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรได้เองภายใต้กรอบของหลักสูตรแกนกลางเป็นเรื่องที่จะต้องมี การเตรียมการให้พร้อมเพื่อตอบสนองการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดแนวการจัดการศึกษาใน
-มาตรา 22 ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
-ในมาตรา 23 กำหนดการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสามารถทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ในเรื่องต่อไปนี้
              1. ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
              2. ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้และความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
              3. ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้             ภูมิปัญญา
              4. ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
              5. ส่งเสริมการสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้ในการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ
              6. จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
              จากข้อกำหนดจากมาตรา 22, 23, 24 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2524 นำไปสู่การกำหนดคุณภาพมาตรฐานของผู้จบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาในอดีต  กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544: 4) กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ดังนี้ คือ
              1. เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์
              2. ความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเรียน และรักการค้นคว้า
              3. มีความรู้อันเป็นสากล ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะและศักยภาพในการจัดการ การสื่อสารและเทคโนโลยี ปรับวิธีการคิดวิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานการณ์
              4. มีทักษะและกระบวนการ โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิดและ          การสร้างปัญญา และทักษะในการดำเนินชีวิต
              5. รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี
              6. มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค มีค่านิยมเป็นผู้ผลิตมากกว่าผู้บริโภค
              7. เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในวิถีและการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
              8. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทยทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
              9. รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามให้สังคม

2.  ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
              สกิลเบ็ก (Skilbeck, 1984: 2) ได้ให้ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนไว้ว่า หมายถึง การวางแผน การออกแบบ การนำไปใช้และการประเมินผล การกำหนดการเรียนรู้ของนักเรียนดำเนินการโดยสถานศึกษา เน้นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างบุคลากรภายในสถานศึกษา ไม่ใช่กำหนดจากบุคคลภายนอก
              แฮร์ริสัน (Marsh and others.1990: 48) ให้ความหมายการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนว่า                      1. เป็นแผนงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ 2. เป็นสิ่งที่นำไปปฏิบัติได้จริงและมีผลเกิดขึ้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้องจริง 3. เป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ทั้ง 3 ข้อมีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้หลักสูตรได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น
              เอ็กเกิลสตัน (Eggleston, 1980: 7) ได้ให้ความหมายการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนว่า เป็นการพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน โดยมีการวางแผนนำไปใช้ และประเมินร่วมกัน มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและชุมชน เช่น บุคลากร อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นพันธกิจร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน ครูได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เป็นหลักสูตรที่โรงเรียนได้รับประโยชน์ โรงเรียนเป็นผู้ทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลมากกว่าเป็นเพียงเจ้าของหลักสูตร
              กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544:28-29) ได้กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนว่า คือพันธกิจหรือภาระหน้าที่ที่สถานศึกษาและชุมชนร่วมกันในการพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ เป้าหมาย มาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เพื่อให้ครูทุกคนนำไปออกแบบการเรียนการสอนมีการวางแผนร่วมกันทั้งสถานศึกษาเป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้านของสถานศึกษา
              สรุป การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในความหมายต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นสรุปว่า การพัฒนาหลักสูตรคือ แผนประสบการณ์หรือแผนการจัดการเรียนการสอนที่เกิดจากการตัดสินใจร่วมกันระหว่างบุคลากรทั้งภายในและภายนอกของโรงเรียน เพื่อกำหนดการเรียนรู้ของนักเรียน มีการวางแผนนำไปใช้และประเมินผลร่วมกัน

3.  แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
              แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เป็นแนวคิดภายใต้พื้นฐานของการ บริหารงานที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management - SBM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งให้สถานศึกษามีอิสระและมีความคล่องตัวในการบริหารงานด้านวิชาการ ด้านการเงิน ด้านการบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยมีความเชื่อว่าการตัดสินใจที่ดีที่สุดจากการตัดสินใจของคณะบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดและมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียนมากที่สุด (Wohlsletter, 1995:22-25) แนวคิดนี้เริ่มในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแบบของบริหารจัดการแตกต่างกันไปตามมลรัฐ และในระหว่าง พ.ศ. 2503-2522 วงการศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานทางการศึกษาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนำความคิดจากความสำเร็จของการพัฒนาองค์การทางอุตสาหกรรมที่ทำองค์การให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน  ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพ สร้างผลกำไรและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้น แนวทางที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น  ต้องปรับปรุงและพัฒนาองค์การ  การบริหารโรงเรียนเสียใหม่ มีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังโรงเรียนให้มากขึ้นมีการนำวิชาการบริหารงบประมาณด้วนตนเอง (Self-Budgeting School) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (School-Based Curriculum Development) การพัฒนาบุคลากรโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Student Counseling) เข้ามาใช้ (สำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ,2543:12)
              เซ็น (Chen, H.L.S., 2000:3) กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วความคิดในการจัดทำหลักสูตรโรงเรียนก็คือ โรงเรียนเป็นที่ที่ดีที่สุดในการออกแบบหลักสูตร เพราะเป็นสถานที่ผู้เรียนและครูมีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการกระทำ และมีผลโดยตรงต่อโรงเรียนและมีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการศึกษา เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการใช้หลักสูตรแกนกลางเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของโรงเรียนนโยบายที่จะให้โรงเรียนพัฒนาหลักสูตร เป็นการเปลี่ยนจากการสั่งการจากหน่วยงานกลางมายังหน่วยปฏิบัติ (Top-Down) มาเป็นการจัดทำจากหน่วยปฏิบัติขึ้นไป (Bottom-Up) ซึ่งเป็นความคิดเช่นเดียวกับการให้โรงเรียนบริหารการจัดการเอง (School-Based Management) และเป็นความคิดที่นำมาจากประเทศทางตะวันตก ดังนั้น การนำมาใช้จะต้องนำมาปรับให้เหมาะสมด้วยหวังว่าทุกโรงเรียนจะเป็นแกนในการปฏิรูปการศึกษา ครูทุกคนเป็นนักออกแบบหลักสูตร (Curriculum Designer) และทุกห้องเรียนเป็นห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ๆ
             
              1. ปัญหาการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้เกิดปัญหาคือ
                   1.ก่อให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติ อนุญาต
                   1.ขาดความเป็นอิสระในการคิด การตัดสินใจในระดับล่าง และระดับปฏิบัติของหน่วยงานในพื้นที่และสถานศึกษา
                   1.การบริหารและการตัดสินใจของหน่วยงานระดับล่างไม่อาจทำได้ ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา และตอบสนองตามความต้องการของนักเรียนและประชาชน หรือชุมชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
                   1.ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากร เนื่องจากการจัดสรรที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริง
                   การมอบอำนาจหรือแบ่งอำนาจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบริหารงานตามระเบียบแบบแผนการบริหารการเงิน และการบริหารงานบุคคล ส่วนการมอบอำนาจในเรื่องของนโยบายแผนงาน และวิชาการมีเป็นส่วนน้อยคือเพียงร้อยละ 0.4ของลักษณะงานที่มอบอำนาจไปทั้งหมด
              2. ปัญหาด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน ก็มีการกำหนดและควบคุมจากส่วนการสูงมาก แม้มีความพยายามให้สถานศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาหลักสูตรในท้องถิ่น ก็ไม่เกิดผลเท่าที่ควรทั้งนี้เนื่องจาก
                   2.กรอบหลักสูตรและการประเมินผล เป็นสาเหตุสำคัญในการสกัดกั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตร
                   2.ความวิตกกังวลของสถานศึกษาและครูผู้สอน ที่เกรงว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ครบตามระเบียบและกฎเกณฑ์ดังกล่าว
                   2.รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครูที่ยังยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ส่งเสริมศักยภาพ และความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน
                   2.ระบบรวมศูนย์ในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการเรียนการสอน รวมทั้งการควบคุม จัดสรรและกำหนดคุณลักษณะจากส่วนกลางก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานศึกษามิอาจจัดรายวิชาที่สนองความต้องการของนักเรียนและความต้องการชุมชนได้
              3. ปัญหาจากการใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ ก่อให้เกิดผลต่อผู้ปฏิบัติตามหลักสูตร
                   3.ผู้บริหารโรงเรียนบางส่วนขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักสูตร
                   3.ครูไม้เข้าใจหลักการ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร
                   3.เนื้อหาวิชามีความยาก ไม่สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น
                   3.ครูไม่เข้าใจวิธีการจัดการเรียนการสอน จึงจัดการเรียนการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลาง
                   3.การจัดส่งเอกสารประกอบหลักสูตรไปยังโรงเรียนมีความล่าช้า ไม่ทันเปิดภาคการศึกษา จำนวนที่จัดส่งไปให้ไม่เพียงพอ
              4. ปัญหาในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นก็คือ
                   4.การขาดบุคลากร
                   4.ขาดความร่วมมือและสนับสนุน
                   4.ขาดวิทยากร
                   4.ขาดความรู้
                   4.ขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
                   4.ครูไม่ปรับหลักสูตรสอนตามหลักสูตรแกนกลาง
                   4.ไม่ปรับปรุงสื่อ เอกสาร
                   4.ครูไม่มีความรู้และขาดทักษะในการดำเนินการ
              จากรายงานการวิจัยและพัฒนาระบบการประเมินผลภายในของสถานศึกษาพบว่าสถานศึกษาที่มีหลักสูตรและเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและผู้เรียน มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนคือ
              1. นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและชุมชนและตัวเองอาศัยอยู่น้อยหรืออาจไม่เกี่ยวข้อง
              2. ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องไม่สนุก เพราะประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมีไม่มาก ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ เช่น ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม ที่เชื่อว่าการรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนเป็นผู้ริเริ่มเป็นผู้กระทำที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าผู้เรียนต้องเป็นผู้ลงมือกระทำ

              การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องดำเนินการ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาประสบความสำเร็จมีดังนี้ (Cohen, 1985:1158)
              1. ต้องมีการมอบอำนาจส่วนกลางไปยังระดับโรงเรียนในท้องถิ่นในลักษณะการกระจายอำนาจ
              2. บุคลากรในโรงเรียนมีความยินดีในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรสถานศึกษาและบุคคลเหล่านั้นมีทักษะในการวินิจฉัยความจำเป็นของนักเรียน
              3. บุคลากรมีความสามารถเพียงพอในการรับผิดชอบงานและตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตร
              เงื่อนไขดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้มีการกระจายอำนาจการบริหารไปยังสถานศึกษา ให้สถานศึกษามีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้เองซึ่งแนวทางที่กำหนดไว้มีดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543:3)
              1. ยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใน (School-Based Decision Making) เป็นแนวคิดที่มุ่งให้โรงเรียนมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ
              2. การมีส่วนร่วมและการร่วมคิดร่วมทำ (Participation and Collaboration) การศึกษาเป็นเรื่องของสาธารณชน มิใช่การรับผิดชอบของใครแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป
              3. การกระจายอำนาจ (Decentralization) เป็นการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับผู้ใกล้ชิดเด็ก ได้แก่ โรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา ครูชุมชน เป็นความเชื่อว่าผู้มีส่วนได้เสียต่อการศึกษาหรือผู้ที่อยู่ใกล้เด็กสามารถจัดการศึกษาได้ดีที่สุด ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน อำนาจการตัดสินใจควรอยู่ในระดับปฏิบัติคือสถานศึกษา
              4. ภารกิจที่ตรวจสอบได้ (Accountability) ต้องมีการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบและภารกิจของผู้บริหาร ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและชุมชนอย่างชัดเจน และภารกิจเหล่านี้ต้องสามารถตรวจสอบความสำเร็จได้ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

สรุป (Summary)
              ข้อกฎหมายที่สถานศึกษาต้องไปดำเนินการให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรได้เองภายใต้กรอบของหลักสูตรแกนกลางเป็นเรื่องที่จะต้องมี การเตรียมการให้พร้อม ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 27 ที่กำหนดให้ “คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ และในวรรคสองกำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนเกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” ซึ่งจะเห็นได้ว่าจุดหมายในส่วนของหลักสูตรแกนกลางที่จัดทำโดยกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจะได้นำไปจัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษานั้นๆ ต่อไป
              การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา อาศัยแนวคิดภายใต้พื้นฐานของการบริหารงานที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management - SBM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งให้สถานศึกษามีอิสระและมีความคล้องในตัวในการบริหารงานด้านวิชาการ ด้านการเงิน ด้านการบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไปเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดและมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียนมากที่สุด แนวทางที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นใช้กระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังโรงเรียนให้มากขึ้นมีการนำวิธีการบริหารงบประมาณด้วยตนเอง (Self-Budgeting School) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (School-Based Curriculum Development) และการพัฒนาบุคลากรโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Student Counseling) เข้ามาใช้
              ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่นำมาใช้ดำเนินการในครั้งนี้ นำแนวความคิดและรูปแบบจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 27 วรรคสอง ที่กำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งแนวคิดและรูปแบบของการพัฒนาหลักสูตร เช่น ไทเลอร์ ทาบา เซย์เลอร์อเล็กซานเดอร์และเลวิสโอลิวา สกิลเบ็กมาร์ช และคณะเอ็กเกิลสตัน วอล์คเกอร์ และรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทย เช่น กรมวิชาการ และกรมการศึกษานอกโรงเรียน มากำหนดเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น