วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

แบบจำลองการสื่อสารขั้นพื้นฐาน


แบบจำลองการสื่อสารขั้นพื้นฐาน
แบบจำลองพื้นฐานทางการสื่อสาร เป็นแผนภาพที่ใช้อธิบายการสื่อสารอย่างง่าย ๆ บางแบบก็มีความยุ่งเหยิงซับซ้อน บางแบบอธิบายปัจจัยในตัวคน บางแบบก็อธิบายความสัมพันธ์ของคนกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือบางแบบก็มองอิทธิพลของสังคมต่อการกระทำการสื่อสารของคน แต่อย่างไรก็ตามแบบจำลองแต่ละแบบก็มีจุดมุ่งหมายในการอธิบายกระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันเพราะแบบจำลองก็คือ คำอธิบายตัวทฤษฎีโดยพยายามทำให้ง่ายและสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ สามารถกำหนดทางเลือกของการคาดคะเนพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ได้ เป็นคำอธิบายของกระบวนการสื่อสารโดยทั่ว ๆ ไปได้ โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกระบวนการสื่อสารประเภทใด แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือว่า แต่ละทฤษฎีหรือแบบจำลองนั้นไม่สามารถจะอธิบายกระบวนการสื่อสารทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ แต่ต้องอาศัยทฤษฎีหลาย ๆ ทฤษฎีมาช่วยอธิบายเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แบบจำลองการสื่อสารที่จะกล่าวในที่นี้จะมีเพียง 5 แบบจำลอง จากหลาย ๆ แบบจำลองที่เป็นแบบจำลองหรือทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1. แบบจำลองการสื่อสารขั้นพื้นฐานตามแนวคิดของแชนนันและวีเวอร์
แชนนัน (C. Shannon) และวีเวอร์ (W. Weaver) ได้สร้างแบบจำลอง การสื่อสารขั้นพื้นฐาน เมื่อปี พ.ศ. 2492 ซึ่งถือเป็นแบบจำลองที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการสื่อสารยุคเริ่มต้นในชื่อว่า แบบจำลองการสื่อสารเชิงทฤษฎีคณิตศาสตร์ (The Mathematical Theory of Communication) ที่ชื่อเป็นแบบนี้เพราะผู้คิดค้นแบบจำลองที่ชื่อว่า แชนนัน เป็นนักคำนวณด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเขาคิดค้นขึ้นเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้าน

การสื่อสารทางโทรศัพท์ในประเด็นที่ว่า การติดต่อสื่อสารประเภทใดจึงจะทำให้จำนวนของสัญญาณมีได้มากที่สุด และสัญญาณที่ถ่ายทอดไปจะถูกทำลายโดยสิ่งรบกวนมากน้อยเพียงไรนับแต่เริ่มส่งสัญญาณไปจนถึงผู้รับ
          
            แบบจำลองการสื่อสารประเภทนี้ เป็นแบบจำลองการสื่อสารที่พยายามเอาวิชาการหรือทฤษฎีทางด้านคณิตศาสตร์มาอธิบายถึงกระบวนการหรือปรากฎการณ์ทางการสื่อสาร

การสื่อสารตามแนวความคิดของแชนนัน และเพื่อนร่วมงานที่ชื่อว่า วีเวอร์นั้นเป็นแบบจำลองกระบวนการสื่อสารทางเดียวในเชิงเส้นตรง คือ ถือว่าการสื่อสารเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งองค์ประกอบของการกระทำการสื่อสารตามแบบจำลองของแชนนันและวีเวอร์ มีด้วยกัน 6 ประการ ตามแผนภาพดังนี้
แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของแชนนัน และวีเวอร์
จากแบบจำลองนี้ จะเห็นได้ว่า "แหล่งสารสนเทศ" จะทำหน้าที่ สร้างสารหรือเนื้อหาข่าวสารซึ่งอาจเป็นรูป คำพูด ข้อเขียน ดนตรี หรือ รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งสารนี้จะถูกสื่อออกไป โดยสารนั้นจะถูกสร้างขึ้นเป็นสัญญาณโดย "ตัวถ่ายทอด" หรือ "ตัวแปลสาร" สัญญาณนี้จะถูกปรับเปลี่ยนโดยเหมาะกับ "ทางติดต่อ" หรือ "ผ่านช่องสาร" ไปถึง "ผู้รับ" หน้าที่ของ "ผู้รับ" จะแปลงสัญญาณที่ได้รับกลับมาเป็นสาร แสดงว่า "สาร" ไปถึงจุดหมายปลายทางของการสื่อสาร

            ตัวอย่าง เช่น นาย ก. แหล่งสารสนเทศ ส่งเนื้อหาข่าวสารเป็นคำเขียนโดยส่งผ่านเครื่องส่งหรือตัวแปลสารหรือตัวถ่ายทอด แปลงคำเขียนเป็นสัญญาณ เช่น สัญญาณโทรเลข โทรสารส่งผ่านช่องสารโดยสัญญาณนั้น จะต้องเหมาะสมกับช่องสารด้วยก่อนไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทาง โดยผ่านสัญญาณนั้นมาที่เครื่องรับทางฝ่ายผู้รับ เพื่อแปลงสัญญาณกลับมาเป็นเนื้อหาของสาร (คำเขียน) อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงส่งไปยังจุดหมายปลายทาง (สมมตินาย ข. เป็นผู้รับสาร ผู้รับสารรับทราบสารดังกล่าว) ซึ่งอาจเกิดอุปสรรคหรือเสียงรบกวนหรือสิ่งรบกวนได้ในขบวนการของช่องทางการสื่อสาร แล้วแต่กรณี ๆ ไป เช่น กรณีโทรสารที่ส่งผ่านมาทางสัญญาณโทรศัพท์ ผู้ส่งอาจส่งมาจำนวน 5 หน้า แต่ผู้ได้รับอาจได้รับเพียง 4 หน้า อุปสรรคอาจเกิดจากปัญหาของสัญญาณ หรือ จากการส่งถึงฝ่ายสารบรรณ ก่อนถึงตัวผู้รับแล้วจำนวนหน้าอาจหายไป 1 หน้าก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องมีการติดต่อสื่อสารกลับไปยังผู้ส่งสารใหม่ เพื่อให้ส่งเนื้อหาของสารหน้าที่ขาดหายไปมาใหม่ (ตามกระบวนการเดิมข้างต้น) แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ การลดอุปสรรคทางการสื่อสารนี้อาจทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่กระทำในการลดอุปสรรคทางการสื่อสารนี้ อาจทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย หรือทำให้ข้อมูลที่ต้องการส่งออกไปยังผู้รับลดน้อยลงได้ ในครั้งหนึ่ง ๆ เช่น ในกรณีข้างต้นที่ต้องมีการติดต่อกลับไปยังผู้ส่งสารใหม่ เพื่อจัดส่งข้อมูลหน้าที่ขาดหายไป ส่วนกรณีหลังการส่งข้อมูลซ้ำ ๆ ในช่องทางของการโทรสาร (Fax) จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หรือถ้าหากมีการกำหนดในการส่งสัญญาณแต่ละครั้งว่ากี่หน้า ก็จะทำให้ส่งข้อมูลออกไปได้น้อยลง

            แบบจำลองการสื่อสารเชิงคณิตศาสตร์ของแชนนันและวีเวอร์นี้ ถือได้ว่าเป็นต้นแบบแห่งความคิดและกระตุ้นให้นักวิชาการเกิดความสนใจในการคิดค้นแบบจำลองการสื่อสารของมนุษย์มากยิ่งขึ้น


2. แบบจำลองการสื่อสารขั้นพื้นฐานตามแนวคิดของลาสเวลล์
ฮาโรลด์ ดี ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้เสนอบทความที่เป็นการเริ่มต้นอธิบายการสื่อสารที่มีคนรู้จักมากที่สุด ในปี พ.ศ. 2491 โดยเสนอว่า วิธีที่สะดวกที่จะอธิบายการกระทำการสื่อสารก็คือ การตอบคำถามต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ใคร (who)

2. กล่าวอะไร (says what)

3. ผ่านช่องทางใด (in which channel)

4. ถึงใคร (to whom)

5. เกิดผลอะไร (with what effect)

จากข้อความดังกล่าวข้างต้น สามารถเขียนเป็นแบบจำลองการสื่อสารได้ดังนี้
แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของฮาโรลด์ ดี ลาสเวลล์
แบบจำลองการสื่อสารของลาสเวลล์เป็นทฤษฎีการสื่อสารที่อธิบายกระบวนการสื่อสารเชิงพฤติกรรม เป็นการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร เนื้อหาข่าวสารชนิดของสื่อ และผลที่เกิดจากการกระทำการสื่อสารนั่นเอง

           นอกเหนือจากนั้นแบบจำลองการสื่อสารของลาสเวลล์ข้างต้นนี้ ยังถือว่าเป็นตัวแทนของแบบจำลองการสื่อสารในระยะแรก ๆ แบบจำลองนี้ถือว่า ผู้ส่งสารมีเจตนาในอันที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้รับสาร เพราะช่วงระยะเวลาที่ลาสเวลล์ให้คำอธิบายนี้ เป็นระยะที่นักวิชาการผู้สนใจวิชาการทางด้านนี้มีความเชื่อว่า กระบวนการสื่อสารนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นกระบวนการในเชิงโน้มน้าวใจ และถือว่า สารที่ส่งไปนั้นจะต้องมีผลเสมอไป และโดยส่วนตัวแล้วลาสเวลล์เป็นผู้ที่สนใจต่อการสื่อสารทางการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อ แบบจำลองนี้จึงเหมาะแก่การใช้วิเคราะห์การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองและการโน้มน้าวใจ แต่อย่างไรก็ตามมีผู้วิจารณ์ทฤษฎีนี้ว่า ลาสเวลล์อธิบายกระบวนการสื่อสารอย่างง่ายเกินไปเพราะจริง ๆ แล้วกระบวนการสื่อสารมีความซับซ้อนมากกว่าที่จะพิจารณาเพียงว่าผู้ส่งสารส่งข่าวสารไปยังผู้รับสารโดยผ่านช่องทางการสื่อสารแบบหนึ่งแบบใด และเกิดผลจากการสื่อสารนั้น ๆ ซึ่งผลในที่นี้ไม่ได้ดูในแง่ปฏิกิริยาตอบกลับของผู้รับสารว่าพอใจหรือไม่พอใจ เชื่อหรือไม่เชื่อ คิดแต่เพียงว่าจะต้องมีผลตามเจตนารมณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการ เช่นต้องการโฆษณาชวนเชื่อหรือโน้มน้าวใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นต้น เพราะการสื่อสารโดยทั่วไปยังมีปัจจัยอื่น ๆ เกิดขึ้นในขณะทำการสื่อสารด้วย เช่น สภาพสิ่งแวดล้อม จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร และข้อสำคัญทฤษฎีนี้ขาดปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในกระบวนการสื่อสารนั่นคือ ผลสะท้อนกลับหรือปฏิกิริยาตอบกลับ (feedback)

           ในกรณีของปฏิกิริยาย้อนกลับ (Feedback) หรือบางคนก็เรียกว่าผลสะท้อนกลับหรือปฏิกิริยาตอบกลับนี้ ถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารกลุ่มเล็ก-กลุ่มใหญ่ หรือการสื่อสารมวลชน   เพราะปฏิกิริยาสะท้อนกลับนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ถึงผลของการสื่อสารในแต่ละครั้งว่าผู้รับสารมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรต่อสารที่ได้รับนั้น นอกจากนั้น ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจะทำให้องค์ประกอบของการสื่อสารครบบริบูรณ์ขึ้น คือ มีการสื่อสารทั้งจากผู้ส่งสาร และผู้รับสารที่เรียกว่า Two-way Communication หรือการสื่อสารสองทาง ซึ่งสามารถที่จะเขียนออกมาเป็นแบบจำลองคร่าว ๆ คือ
ตัวอย่างในเรื่องของปฏิกิริยาสะท้อนกลับนี้ หากเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลจะสังเกตเห็นได้ง่ายโดยตรงและทันที เช่น ก. ผู้ส่งสาร ทำการสื่อสารกับ ข. ผู้รับสารโดยคุยกันเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ หาก ข. มีความรู้สึก หรือมีความคิดหรือมีทัศนคติไม่เห็นด้วย ข. ก็สามารถแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปได้ทันท่วงทีด้วยการใช้คำพูดหรือการใช้กิริยาท่าทางที่นิ่งเฉยก็ได้ ซึ่ง ก. จะได้รับรู้ในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าเป็นการสื่อสารในระดับการสื่อสารมวลชนที่ผ่านทางองค์กรสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นั้นปฏิกิริยาสะท้อนกลับจะเป็นไปได้ช้ากว่าการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อหนังสือพิมพ์ ที่ลงข่าวหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วผู้อ่านไม่เห็นด้วย ผู้อ่านหรือผู้รับสารอาจสามารถแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับได้ด้วยการส่งจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้น ๆ หรือหากไม่ชอบกับการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับใดมาก ๆ อาจจะแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับด้วยการเลิกซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็ได้ แต่ถ้าเป็นสื่อวิทยุ และวิทยุโทรทัศน์แล้วเป็นการจัดรายการสดมีการเปิดโอกาสให้ผู้รับฟังและรับชมสามารถโทรศัพท์เข้าไปแสดงความคิดเห็นในรายการได้โดยตรง ก็ถือว่าเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปยังผู้ส่งสารได้รวดเร็วเช่นกัน เพียงแต่ผู้รับสารจำนวนมาก ๆ เหล่านั้นไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบกลับได้ในเวลาเดียวกันหมดทุกคน (มีความแตกต่างในเวลาในการแสดงปฏิกิริยาตอบกลับ)

          3. แบบจำลองการสื่อสารตามแนวความคิดของออสกูดและวิลเบอร์ ชแรมม์
แบบจำลองการสื่อสารที่ออสกูดเป็นต้นคิด และวิลเบอร์ ชแรมม์ นำมาขยายความและเป็นผู้เสนอไว้ในปี พ.ศ. 2497 นี้ มีลักษณะเป็นวงกลม ที่เน้นให้เห็นว่า ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างกระทำหน้าที่อย่างเดียวกันในกระบวนการสื่อสาร นั่นคือ การเข้ารหัส (encoding) การถอดรหัส (decoding) และการตีความ (interpreting) ซึ่งสามารถแสดงเป็นภาพได้ดังนี้
แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของออสกูดและวิลเบอร์ ชแรมม์ 
ความหมายของการเข้ารหัส การถอดรหัส และการตีความสาร

การเข้ารหัสหมายถึง การที่ผู้ส่งสาร แปลสาร (ข้อมูล ความคิด ความรู้สึก) ให้เป็นภาษาหรือรหัสอื่น ๆ ที่เหมาะแก่วิธีการถ่ายทอด หรือสื่อ หรือช่องทางการสื่อสาร และเหมาะกับผู้รับสารกลุ่มเป้าหมาย
            การถอดรหัส หมายถึง การที่ผู้รับสารแปลรหัส หรือ ภาษากลับเป็นสาร (ข้อมูล ความคิด ความรู้สึก) อีกครั้งหนึ่งเพื่อสกัดเอาความหมายที่ผู้ส่งสารส่งมาหรือต้องการสื่อความหมายมา
            การตีความสาร หมายถึง การที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถที่จะตีสารที่ตนได้รับไปในทางที่อีกฝ่ายหนึ่งประสงค์ (ตีความหมายสารได้ตรงกัน) การสื่อสารในครั้งนั้น ๆ ก็จะสัมฤทธิ์ผล การตีความสารนี้มีความสำคัญมากต่อผลของการสื่อสาร และการตีความสารของผู้ส่งสารและผู้รับสารจะคล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกันจะขึ้นอยู่กับกรอบแห่งการอ้างอิง (Frame of reference) ของผู้กระทำการสื่อสารทั้ง 2 ฝ่ายเป็นสำคัญ

            ตัวอย่างของการเข้ารหัสและการถอดรหัส เช่น ในการสนทนาระหว่างบุคคล 2 คน การทำหน้าที่เข้ารหัสสาร กระทำได้โดยกลไก การพูด และกล้ามเนื้อซึ่งสามารถแสดงอากัปกิริยาได้ ส่วนการถอดรหัส จะเกิดขึ้นได้โดยประสาทสัมผัสทั้งหลายเช่น ประสาทสัมผัสของการได้ยินได้ฟัง ประสาทสัมผัสของการเห็น สัมผัสแตะต้อง ตลอดจนการได้กลิ่นและการได้ลิ้มรส

            ตัวอย่างของการตีความสารตามกรอบแห่งการอ้างอิง (Frame of reference) หรือกรอบแห่งประสบการณ์ร่วม (Field of experience) เช่น ในการสื่อสารระหว่างสมชาย (พ่อ) กับสมศักดิ์ (ลูก) ในตอนสายของเช้าวันหนึ่ง ที่พ่อเข้ามาเห็นลูกนั่งอยู่ที่บ้านโดยยังไม่ยอมไปโรงเรียน พ่อจึงถามสมศักดิ์ว่า ทำไมจึงยังไม่ไปโรงเรียน สมศักดิ์ ตอบพ่อว่า "ผมไม่มีมู้ด" เมื่อสมชาย (พ่อ) ได้ยินเช่นนั้น ก็บอกว่า "เอ้า ไม่มีมู้ด ก็เอาเงินไปซื้อซะ" สมศักดิ์ก็ตอบว่า "พ่อไม่เข้าใจ ผมไม่มีมู้ดครับ" ที่เป็นเช่นนี้เพราะ สมชายตีความสารที่สมศักดิ์ส่งมาในการสื่อสารครั้งนั้นผิดพลาดไป โดยคิดว่ามู้ดเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างกับที่สมศักดิ์เคยขอสตางค์ไปซื้อเพื่อนำไปโรงเรียน นั่นหมายความว่าสมชายตีความสารของสมศักดิ์จากประสบการณ์ร่วมที่เคยมีกันมาก่อน        


4. แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเบอร์โล

เดวิด เค เบอร์โล (David K. Berlo) เสนอแบบจำลองการสื่อสารไว้    เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยอธิบายว่า การสื่อสารประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญ 6 ประการ คือ
1. ต้นแหล่งสาร (communication source)
2. ผู้เข้ารหัส (encoder)
3. สาร (message)
4. ช่องทาง (channel)
5. ผู้ถอดรหัส (decoder)
6. ผู้รับสาร (communication receiver)

จากส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญ 6 ประการนั้น เบอร์โล ได้นำเสนอเป็นแบบจำลองการสื่อสารที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปว่า "แบบจำลอง SMCR ของเบอร์โล"(Berlo's SMCR Model) โดยเบอร์โลได้รวมต้นแหล่งสารกับผู้เข้ารหัสไว้ในฐานะต้นแหล่งสารหรือผู้ส่งสาร และรวมผู้ถอดรหัสกับผู้รับสารไว้ในฐานะผู้รับสาร แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเบอร์โลนี้ จึงประกอบไปด้วย S (Source or Sender) คือ ผู้ส่งสาร M (Message) คือ สาร C (Channel) คือ ช่องทางการสื่อสาร R (Receiver) คือ ผู้รับสาร ซึ่งปรากฎในภาพต่อไปนี้

แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเดวิด เค เบอร์โล

(แบบจำลองการสื่อสาร S M C R)
จากแบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเบอร์โลข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ส่งสาร (Source or S) คือ ผู้เริ่มต้นการสื่อสาร ทำหน้าที่ในการเข้ารหัส ซึ่งผู้ส่งสารจะทำหน้าที่ในการสื่อสารได้ดีเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติต่าง ๆ 5 ประการคือ

1. ทักษะในการสื่อสาร เช่น ความสามารถในการพูด การเขียน และ ความสามารถในการคิดและการใช้เหตุผล เป็นต้น

2. ทัศนคติ หมายถึง วิธีการที่บุคคลประเมินสิ่งต่าง ๆ โดยความโน้มเอียงของตนเองเพื่อที่จะเข้าถึงหรือเป็นการหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ๆ เช่น ทัศนคติต่อตนเอง ต่อหัวข้อของการสื่อสาร ต่อผู้รับสาร ต่อสถานการณ์แวดล้อมการสื่อสารในขณะนั้น เป็นต้น

3. ความรู้ หมายถึง ความรู้ของผู้ส่งสาร ในเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่าง ๆ บุคคลหรือกรณีแวดล้อมของสถานการณ์การสื่อสารในครั้งหนึ่ง ๆ ว่ามีความแม่นยำหรือถูกต้องเพียงไร

4. ระบบสังคม ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการสื่อสารของบุคคล เพราะบุคคลจะขึ้นอยู่กับกลุ่มทางสังคมที่ตนเองอยู่ร่วมด้วย

5. ระบบวัฒนธรรม หมายถึง ขนบธรรมเนียม ค่านิยม ความเชื่อ ที่เป็นของตัวมนุษย์ในสังคม และเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในการสื่อสารด้วย เช่น การสื่อสารระหว่างบุคคลต่างวัฒนธรรมกัน อาจประสบความล้มเหลวได้เนื่องจากความคิดและความเชื่อที่มีไม่เหมือนกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร

           ในแง่ของสาร (Message or M) นั้น เบอร์โล หมายรวมถึง ถ้อยคำ เสียง การแสดงออกด้วยสีหน้า อากัปกิริยาท่าทาง ที่มนุษย์สร้างขึ้นในขณะที่เป็นผู้ส่งสาร ถ้าความหมายเป็นทางการ ก็คือ ผลผลิตทางกายภาพที่เป็นจริงอันเกิดจากผลการเข้ารหัสของผู้ส่งสารนั่นเอง ตามความคิดของเบอร์โลนั้น สารมีคุณสมบัติ 3 ประการคือ

1. รหัสของสาร (message code) เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง หรือรหัสอื่น ๆ

2. เนื้อหา (content)

3. การจัดสาร (treatment) คือ วิธีการที่ผู้ส่งสารเลือกและจัดเตรียมเนื้อหาของสาร เช่น การใช้ภาษา ไวยากรณ์ ศัพท์ รวมถึง คำถาม คำอุทาน ความคิดเห็น เป็นต้น สารที่ถูกจัดเตรียมไว้ดี จะทำให้เกิดการรับรู้ความหมายในผู้รับสารได้
             ส่วนช่องทาง (Channel or C) ช่องทาง ซึ่งเป็นพาหนะนำสารไปสู่ผู้รับสาร และตามทัศนะของเบอร์โล ทางติดต่อหรือช่องทางที่จะนำสารไปสู่ประสาทรับความรู้สึกทั้ง 5 ประการของมนุษย์ ได้แก่
1. การเห็น
2. การได้ยิน
3. การสัมผัส
4. การได้กลิ่น
5. การลิ้มรส
ประการสุดท้ายในด้านของผู้รับสาร (Receiver or R) นั้น ก็จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติด้านต่าง ๆ 5 ประการ เช่นเดียวกับผู้ส่งสาร คือ ทักษะในการสื่อสาร ทัศนคติ ความรู้ ระบบสังคมและระบบวัฒนธรรม



5. แบบจำลองการสื่อสาร ABX ของธีโอดอร์ นิวคอมบ์
แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของนิวคอมบ์นี้ เป็นแบบจำลองเชิงจิตวิทยา เน้นว่า การสื่อสารจะเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการให้เกิดความสมดุลย์หรือความเหมือนกัน ทางความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมต่าง ๆ โดยมองว่าการสื่อสารสามารถช่วยให้เกิดความตกลงใจหรือยอมรับในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือน ๆ กัน แต่เมื่อใดเกิดความไม่สมดุลย์ แน่นอนความยุ่งยากทางจิตใจจะเกิดขึ้น แน่นอนมนุษย์ก็จะพยายามทำการสื่อสารในรูปของการแสวงหาข้อมูลจากที่ต่าง ๆ อาจจะเป็นสื่อมวลชน เพื่อนฝูง คนรอบข้าง คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์นั้น โดยนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อขจัดความยุ่งยากหรือความเครียดอันเกิดจากความไม่สมดุลย์นั้น ๆ
แบบจำลอง ABX ของนิวคอมม์ นี้ เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ของคน 2 คน ( คือ A และ B ) กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ วัตถุ สิ่งของ หรืออื่น ๆ (ในที่นี้สมมติว่าเป็น X ) จะได้ครบตามชื่อทฤษฎีเลย คือทั้ง A ทั้ง B และ XX
แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของธีโอดอร์ นิวคอมป์
รูปแสดงความสัมพันธ์ของคน 2 คน คือ A กับ B และทัศนคติที่มีต่อวัตถุ (X)
            การสื่อสารดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเพื่อที่จะสนับสนุนทัศนคติที่มีต่อกัน โดยการรักษาความสมดุลย์ให้คงไว้ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ยิ่งขึ้น โดยการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการปรับตัวหรือปรับทัศนคติ นั่นคือ ความต้องการความสมดุลย์กระตุ้นให้เกิดการสื่อสาร (การแลกเปลี่ยนข้อมูล, ความคิดเห็น) ซึ่งเป็นลักษณะปกติของความสัมพันธ์ เช่น A กับ B ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้รู้สึกไม่ชอบหน้าหรือไม่ได้เกลียดกัน หรืออย่างน้อยก็เฉย ๆ แนวโน้มที่ A กับ B จะมีความคิดหรือทัศนคติ ต่อ X ที่คล้ายคลึงกันก็ได้ แต่ถ้าความรู้สึกหรือทัศนคติที่มีต่อ X ไม่เหมือนกันเลย ก็อาจจะมีทางออกได้ 3 อย่างคือ ทั้ง A และ B ต่างก็ต้องหันกลับไปทำการสื่อสารด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองมีความรู้สึกต่อ X ถ้าหากเดิม A ชอบ X แต่ B ไม่ชอบ X เมื่อต่างฝ่ายต่างหาข้อมูลมาสนับสนุนหรือเพื่อลดความขัดแย้งแล้ว เหตุผลของ A ดีกว่า B ก็อาจจะหันมาชอบหรือเห็นด้วยกับ X ก็ได้ แต่ถ้าหากเหตุผลของ B ดีกว่า A ก็อาจจะหันมาไม่ชอบ X ไปกับ B ด้วยก็ได้ หรือถ้าหากไม่ได้เป็นไปใน 2 แนวทางนั้น ก็อาจมีหนทางที่ 3 ก็คือต่างคนต่างยืนยันในสิ่งที่ตนเองชอบ และไม่ชอบ ก็จะทำให้ความคิดของทั้งสองฝ่ายคงเดิมแล้วบุคคลทั้ง 2 ก็เลิกทำการติดต่อกันเสียในเรื่องนั้น ๆ
          
            เพราะฉะนั้นเหตุและผลของการกระทำการสื่อสาร มิได้เป็นไปเพื่อการสร้างความเหมือนกันหรือความสมดุลย์กันแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นไปเพื่อยืนยันความแตกต่างกันก็ได้หรือเพื่อสร้างสัมพันธภาพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นก็ได้
แบบจำลองของนิวคอมป์นี้ ไม่สามารถนำไปอธิบายการสื่อสารของกลุ่มขนาดเล็กในระดับสังคมที่ใหญ่โตได้ เพราะสังคมที่ใหญ่นั้น มนุษย์มิได้มีความต้องการที่จะให้เหมือนกัน หรือไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนระดับบุคคลนอกจากแบบจำลองการสื่อสารตามแนวความคิดของนิวคอมป์แล้วยังมีการศึกษาค้นคว้าแบบเดียวกันกับของนิวคอมป์ คือ การศึกษาของนักจิตวิทยาสังคม ที่ชื่อว่า เฟสติงเจอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2500 เฟสติงเจอร์ เป็นผู้ตั้งทฤษฎีความไม่สอดคล้องทางความคิด (Cognitive Dissonance Theory) โดยค้นพบว่า การตัดสินใจ ทางเลือกและข่าวสารข้อมูลใหม่ ๆ ทั้งหลาย มีศักยภาพสูงพอที่จะก่อให้เกิดความไม่สอดคล้องกันหรือความไม่เหมือนกันทางความคิด ก่อให้เกิดความยุ่งยากใจ เป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ดังนั้นผู้ที่เกิดความยุ่งยากใจหรือเกิดความคิดที่ไม่สอดคล้องกัน จะถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกนั้น ๆ ให้ต้องไปแสวงหาข้อมูลเพื่อจะมาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ หรือการเลือกทางเลือกที่ได้ตัดสินใจกระทำลงไป เช่น ซื้อรถมาคันหนึ่งแล้ว ก็ยังไม่วายที่จะแสวงหาข้อมูลที่จะมาสนับสนุนการตกลงใจ หรือการตัดสินใจของตนเองอยู่เสมอ อาจจะด้วยการอ่านโฆษณาเกี่ยวกับรถ นิตยสารรถ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นยี่ห้อเดียวกับที่ตนซื้อมา หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ๆ ที่ตัดสินใจซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เหมือนกับตน มากกว่าที่จะอ่านโฆษณารถหรือผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่น ๆ หรือมากกว่าที่จะติดต่อสื่อสารกับคนที่ตัดสินใจไม่เหมือนตน แต่ในบางครั้งก็อาจแสวงหาข่าวสารผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน แต่เป็นยี่ห้ออื่น ๆ เพื่อหาข้อเสียหรือจุดบกพร่องของยี่ห้อนั้น ๆ เพื่อเป็นการเน้นถึงสิ่งที่เราได้ตัดสินใจกระทำลงไปว่าถูกต้องและดีที่สุดแล้วเช่นกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น