วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional design)


1. การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional design)

                ความหมายของการออกแบบ เป็นการถ่ายทอดจากรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงานที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้ การออกแบบต้องใช้ศาสตร์แห่งความคิดและศิลป์ร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือปรับปรุงพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น

            การออกแบบการเรียนการสอน จึงเป็นกระบวนการวางแผนการเรียนการสอนอย่างมีระบบ โดยมีการวิเคราะห์องค์ประกอบการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนการสอน สื่อกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมถึงการประเมินผล เพื่อให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            การออกแบบการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้สอนวางแผนการสอนอย่างมีระบบ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมาย และประสบความสำเร็จผู้สอนต้องพิจารณาหลักการในการออกแบบการเรียนการสอน คือ

            1. การออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนนี้เพื่อใคร ใครเป็นผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมาย ผู้ออกแบบควรมีความเข้าใจและรู้จักลักษณะของกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเป้าหมายในการเรียนอีเลิร์นนิง

            2. ต้องการให้ผู้เรียนเรียนอะไร มีความรู้ความเข้าใจ และ/หรือ มีความสามารถอะไร ผู้สอนจึงต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนให้ชัดเจน

 

            3. ผู้เรียนจะเรียนรู้เนื้อหาวิชานั้น ๆ ได้ดีที่สุดอย่างไร ควรใช้วิธีการและกิจกรรมการเรียนรู้อะไรที่จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ และมีสิ่งใดที่ต้องคำนึงถึงบ้าง

 

            4. เมื่อผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการเรียน จะทราบได้อย่างไรว่าผู้เรียนมีการเรียนรู้เกิดขึ้น และประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ จะใช้วิธีใดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

            สรุปได้ว่า การออกแบบการเรียนการสอน ควรมีการวางแผนเพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนเป็นใคร มีคุณลักษณะพื้นฐานอย่างไร กำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนครั้งนั้นอย่างไร จะใช้วิธีการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ และวิธีการประเมินผลการเรียนอะไรบ้าง จึงจะสามารถทำให้การสอนนั้นบรรลุเป้าหมาย คือ ภายหลังเรียนแล้วรู้ เข้าใจ จดจำ นำไปใช้ ทำได้ สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ได้เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาในการออกแบบการเรียนการสอน ได้แก่ ผู้เรียน วิธีการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ จุดมุ่งหมาย และการประเมิน

 

2. การออกแบบการเรียนการสอน : แบบจำลอง ADDIE

 

                จากหลักการเพื่อออกแบบการเรียนการสอนที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่จะแสดงได้ชัดเจนเพื่อการจัดการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรม คือ รูปแบบการออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Design Model) ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นแนวทางให้ผู้สอนทุกคนสามารถดำเนินการสอนให้ได้มาตรฐานของการเรียนการสอนที่ใกล้เคียงกันแม้ว่าผู้สอนจะมีประสบการณ์ต่างกัน รูปแบบการออกแบบการเรียนการสอนประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ในการออกแบบระบบการเรียนการสอน ซึ่งมักจะเขียนในรูปแบบของผังแสดงลำดับการทำงาน (Flowchart) เพื่อแสดงรูปแบบให้เข้าใจได้ง่าย และรวดเร็ว โดยหลักการพื้นฐานในการออกแบบการเรียนการสอนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ แบบจำลอง ADDIE ที่มีองค์ประกอบ 5 ขั้นตอน ดังนี้

            1. ขั้นการวิเคราะห์

            การวิเคราะห์เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการออกแบบการเรียนการสอน ผู้ออกแบบจะต้องกำหนดความจำเป็นในการเรียน ทำการวิเคราะห์เนื้อหาหรือกิจกรรมการเรียนการสอน คุณลักษณะของผู้เรียน วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนเพื่อรวบรวมข้อมูล สำหรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดขอบเขตของบทเรียน ขั้นการวิเคราะห์ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ดังนี้

                        1.1 วิเคราะห์ความจำเป็น (Need Analysis) คือการวิเคราะห์เพื่อกำหนดเลือกว่าควรจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอะไร โดยอาจหาข้อมูลจากความต้องการของผู้เรียน หรืออาจหาข้อมูลจากการกำหนดความจำเป็น ปัญหาขัดข้อง หรืออุปสรรคที่ทำให้การเรียนการสอนไม่บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้และพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจัดการเรียนการสอน หากจำเป็นหรือสมควรจัด และควรจัดอย่างไร

 

                        1.2 วิเคราะห์เนื้อหา หรือ กิจกรรมการเรียนการสอน (Content and Task Analysis) คือ การวิเคราะห์เพื่อจัดการเรียนการสอนให้ครอบคลุม หรือสอดคล้องกับความต้องการ ความจำเป็นในการเรียนการสอน โดยพิจารณาอย่างละเอียดด้านเนื้อหา มีการแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อใหญ่ และหัวข้อย่อย ๆ เพื่อให้มีความชัดเจน กำหนดเลือกกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

                        1.3 วิเคราะห์ผู้เรียน (Analyze Leamer Characteristic) เป็นการวิเคราะห์เพื่อสรุปเป็นข้อมูลสำหรับการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน โดยควรวิเคราะห์ทั้งลักษณะทั่วไป เช่น อายุ ระดับความรู้ความสามารถ เพศ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น และควรวิเคราะห์ ลักษณะเฉพาะของผู้เรียนด้วย เช่น ความรู้พื้นฐาน ทักษะความชำนาญ หรือความถนัด รูปแบบการเรียน ทัศนคติ เป็นต้น


                     1.4 วิเคราะห์วัตถุประสงค์ (Analyze Objective) วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน คือ จุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนและผู้สอนรู้ว่าเมื่อเรียนบทเรียนนั้น ๆ แล้วจะเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง ดังนั้นการกำหนดจุดวัตถุประสงค์จึงต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดและรอบคอบ โดยอาจกำหนดจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายหลักของการเรียนการสอนก่อน แล้วจึงกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สามารถประเมินผลได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าผู้เรียนบรรลุการเรียนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมแยกเป็น 3 ด้าน คือ

 

              1) วัตถุประสงค์ด้านพุทธิพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ

 

           2) วัตถุประสงค์ด้านจิตพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้สึก ค่านิยม ทัศนคติ

 

        3) วัตถุประสงค์ด้านทักษะพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำหรือการปฏิบัติ

 

                        1.5 วิเคราะห์สภาพแวดล้อม (Analyza Environment) วัตถุประสงค์การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการสอน เพื่อเป็นการเตรียมการล่วงหน้าว่า สถานที่ เวลา และบริบทในการเรียนการสอนที่จะดำเนินการนั้นจะอยู่ในสภาพใด เช่น ขนาดห้องเรียน อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนที่จะใช้คืออะไร

 

            2. ขั้นการออกแบบ

 

                        การออกแบบเป็นกระบวนการกำหนดว่าจะดำเนินการเรียนการสอนอย่างไร โดยมีการเขียนวัตถุประสงค์จัดทำลำดับขั้นตอนการเรียน กำหนดวิธีสอน เลือกสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมและกำหนดวิธีการประเมินผลว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ขั้นการออกแบบประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ทั้งด้าน การระบุวัตถุประสงค์ ระบุวิธีสอน ระบุสื่อการสอน และระบุวิธีการประเมินผล

 

3. ขั้นการพัฒนา

 

                        การพัฒนาเป็นกระบวนการดำเนินการเตรียมการจัดการเรียนการสอน หรือ สร้างแผนการเรียนการสอน เลือกใช้สื่อการเรียนการสอนโดยพิจารณาสื่อที่มีอยู่ว่าเหมาะสมที่จะใช้ ควรปรับปรุงก่อนใช้ หรือ ควรต้องสร้างสื่อใหม่ และทำการประเมินผลขณะดำเนินการพัฒนาหรือสร้างเพื่อปรับปรุง/แก้ไขให้ได้ระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาแผนการเรียนการสอน พัฒนาสื่อการเรียนการสอน ประเมินผลขณะดำเนินการพัฒนา ขั้นการพัฒนาประกอบด้วยขั้นตอนย่อย อาทิ การพัฒนาแผนการเรียนการสอน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และการประเมินผลระหว่างดำเนินการพัฒนา

 

4. ขั้นการนำไปใช้

           การนำไปใช้เป็นขั้นตอนการดำเนินการเรียนการสอนตามที่ได้ออกแบบและพัฒนาไว้แล้ว ในสภาพจริง

5. ขั้นการประเมินผล

             การประเมินผลเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการออกแบบระบบการเรียนการสอน เพื่อประเมินผลขั้นตอนต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามที่ได้วางแผนหรือไม่ และทำการปรับปรุง แก้ไขให้ได้ระบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ

 

 

3. การออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิง (Instructional design for e-Learning)


            การออกแบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิง มิได้แตกต่างจากการเรียนการสอนที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยสามารถกระทำได้เช่นเดียวกับการออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ ทั้งนี้ ผู้สอนแบบอีเลิร์นนิงนอกจากจะมีความสามารถในการสื่อสารการสอนเช่นเดียวกับการสอนห้องเรียนปกติแล้วยังมีความรู้ความสามารถเข้าใจและมีความสามารถอย่างดีในการเลือกใช้เครื่องมือการสอนจากระบบบริหารจัดการเรียนการสอน และเครื่องมือทางอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ทางการเรียน เนื่องจากผู้เรียนละผู้สอนมิได้พบกันแบบเผชิญหน้าแบบห้องเรียนปกติ


            การอออกแบบระบบการเรียนการสอนเป็นกระบวนการ มีขั้นตอนในการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ระบบการเรียนการสอนที่ดี สำหรับการออกแบบระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากแหล่งทรัพยากรที่มากกว่าการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ รูปแบบระบบการเรียนการสอนจึงมีส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อประสานกับกลุ่มบุคคลที่เป็นแหล่งทรัพยากรและช่วยดำเนินการให้การเรียนการสอนอีเลิร์นนิงเกิดขึ้นได้

 

            การจัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงนั้นมีความแตกต่างในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ เนื่องจากผู้เรียนและผู้สอนอาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของเวลา และสถานที่ ผู้ที่จัดการเรียนการสอน       อีเลิร์นนิงจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของการเรียนการสอนทางไกลที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง ซึ่งผู้เรียนมักคาดหวังการได้รับปฏิสัมพันธ์จากผู้สอน รวมถึงการตอบสนองความแตกต่างรายบุคคลที่มากกว่าในห้องเรียนปกติ ตลอดจนต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการการศึกษาทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต ทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีการเรียนรู้ ทฤษฎีระบบ และรูปแบบระบบการเรียนการสอน เพื่อเป็นฐานในการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงได้ อีกทั้งการออกแบบการเรียนการสอน มิได้เป็นการเน้นที่การถ่ายโอนความรู้ (Transfer of knowledge) จากผู้สอนไปยังผู้เรียนเท่านั้น การเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงจำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญซึ่งประกอบด้วยการเรียนตามอัตราความก้าวหน้ารายบุคคล การมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนการสอนเป็นสำคัญ และสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย

 

            สำหรับการจัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงนั้น แบบจำลองการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงสามารถนำหลักการพื้นฐานในการออกแบบการเรียนการสอน คือ แบบจำลอง ADDIE Model ทั้งองค์ประกอบ ๕ ขั้นตอน ดังนี้

 

                        1. การวิเคราะห์ ในการออกแบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงควรดำเนินการวิเคราะห์รายละเอียด 5 ด้าน

            1.1 วิเคราะห์ความจำเป็น

            - จัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงในหลักสูตร รายวิชา หรือเนื้อหาอะไร

            - จัดการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงเต็มรูปแบบ หรือแบบผสมผสาน หรือเสริมการเรียนการสอน

1.2 วิเคราะห์เนื้อหา หรือกิจกรรมการเรียนการสอน

            - การแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อใหญ่ หรือหัวข้อย่อย ๆ เพื่อให้มีความชัดเจน กำหนดเลือกกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.3 วิเคราะห์ผู้เรียน

            - ข้อมูลผู้เรียน เช่น ระดับชั้น อายุ ความรู้พื้นฐาน เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

1.4 วิเคราะห์วัตถุประสงค์

            - กำหนดวัตถุประสงค์ด้ายพุทธิพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ ด้านจิตพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้สึก ค่านิยม ทัศนคติ และด้านทักษะพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำหรือการปฏิบัติ

            - ระดับชั้น อายุ ความรู้พื้นฐาน เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

1.5 วิเคราะห์สภาพแวดล้อม

            - อุปกรณ์สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น เครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในสถาบัน ระบบจัดการสอน

            - จำนวนผู้เรียนที่มีคอมพิวเตอร์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ความเร็ว

     

       2. ออกแบบ

            - การเขียนผังงาน การออกแบบ storyboard เพื่อจัดลำดับความสัมพันธ์ของเนื้อหาแต่ละส่วนบทดำเนินเรื่อง และการออกแบบบทเรียน ภาพ ข้อความ เสียง และมัลติมีเดีย กิจกรรมการเรียน การกำหนด ปฏิสัมพันธ์การเรียน และการประเมินผล

            - การนำตัวบทบทเรียนที่ผ่านการออกแบบและวิเคราะห์จากขั้นวิเคราะห์มาพัฒนาเป็นการเรียนอีเลิร์นนิง

            - การออกแบบหน้าจอภาพ (screen design) การจัดพื้นที่และองค์ประกอบของจอภาพเพื่อใช้ในการนำเสนอเนื้อหา ภาพ กราฟิก เสียง สี ตัวอักษร และส่วนประกอบอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียน


            3. พัฒนา ขั้นพัฒนาเป็นขั้นตอนของการลงมือปฏิบัติการสร้างบทเรียนตามผลการออกแบบจากขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยผู้มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น นักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก นักคอมพิวเตอร์ผู้ดูแลและจัดการระบบการจัดการเรียนการสอน (LMS : learning management system)

 

            4. นำไปใช้ การนำเสนอการเรียนผ่านระบบบริหารจัดการเรียนการสอนเผยแพร่บนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (network) และสู่การนำไปจัดการเรียนการสอนจริง

5. ประเมิน การประเมินการวิเคราะห์ การประเมินการออกแบบ การประเมินการพัฒนาและการประเมินเมื่อนำไปใช้จริงของระบบอีเลิร์นนิง โดยกระทำระหว่างดำเนินการ คือ การประเมินระหว่างดำเนินงาน (formative evaluation) และประเมินภายหลังการดำเนินงาน (summative evaluation) การประเมินจะทำให้ผู้พัฒนาทราบข้อมูลเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในขั้นตอนต่าง ๆ

  

เพื่อให้เห็นแนวทางการออกแบบการเรียนสอนอีเลิร์นนิงด้านแบบจำลอง ADDIE ที่ชัดเจนขึ้น จึงขอสรุปดังภาพ

 

4. ตัวอย่างการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงที่น่าสนใจ

            ริทชีและฮอฟแมน (Ritchie and Hoffman) กล่าวถึงการออกแบบและเสนอขั้นตอนการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ต้องอาศัยหลักกระบวนการสอน 7 ประการ ดังนี้

            1) สร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน

            2) บอกวัตถุประสงค์ของการเรียน

            3) ทบทวนและเชื่อมโยงความรู้เดิมของผู้เรียน

            4) ให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้

            5) ให้คำแนะนำและให้ข้อมูลป้อนกลับ

            6) ทดสอบความรู้

            7) นำความรู้ไปใช้และเสริมความรู้

            สำหรับองค์ประกอบของอีเลิร์นนิงนั้น มีแนวคิดหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การพิจารณาลักษณะของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รูปแบบการนำส่งอีเลิร์นนิง หรือการพิจารณาองค์ประกอบในแง่มุมของการออกแบบอีเลิร์นนิง

            แบบจำลองการเรียนการสอนอีเลิร์นนิง Ally ได้นำเสนอองค์ประกอบและขั้นตอนการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงมีรายละเอียดประกอบด้วย

            1) การเตรียมตัวผู้เรียนให้พร้อมกับการเรียน ได้แก่ การให้ผู้เรียนได้ทราบความคาดหวัง หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง การแสดงผังความคิดล่วงหน้า การแสดงผังความคิดรวบยอด การประเมินความรู้เบื้องต้นของตนเอง

            2) กิจกรรมการเรียน โดยทั่วไปการเรียนอีเลิร์นนิงจะจัดให้มีสื่อการเรียนทางออนไลน์เพื่อให้ผู้เรียนอ่านหรือฟังสารสนเทศจากบทเรียน ควรเพิ่มกิจกรรมการเรียนที่ให้โอกาสผู้เรียนทำกิจกรรมมากขึ้น

       3) ปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียน การจัดปฏิสัมพันธ์ควรคำนึงถึงการออกแบบส่วนต่อประสานที่ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับตนเอง และกับเนื้อหาสาระ ควรออกแบบให้ง่ายต่อการรับรู้ของประสาทสัมผัส และคำนึงถึงการจัดให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับผู้เรียนอื่นด้วย ผ่านรูปแบบการสอน เช่น การเรียนแบบร่วมมือ การเรียนแบบเรียนรู้ร่วมกัน

            4) การถ่ายโยงความรู้ของผู้เรียน แบ่งเป็น ๒ มิติ กล่าวคือ การถ่ายโยงภายในของผู้เรียน เป็นการสร้างและแปลความหมายของสารสนเทศนั้นตามการรับรู้ที่เกิดขึ้น (Personal meaning) และการถ่ายโยงความรู้ไปใช้กับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิต (Real-life application)

 

แบบจำลองการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงตามแนวคิดของ Anderson และ Elloumi นั้นแบ่งองค์ประกอบการเรียนเป็น 5 องค์ประกอบ คือ

            1. ผู้เรียน โดยแบบจำลองนี้เสนอว่าการเรียนอีเลิร์นนิงเป็นการเรียนรายบุคคล เรียนแบบร่วมมือกันกับเพื่อร่วมชั้นเรียนครอบครัว เรียนจากแหล่งทรัพยากรการเรียนเริ่มจากชุมชนในออนไลน์ และการสื่อสารการเรียนรูปแบบต่าง ๆ

            2. ผู้สอน แบบจำลองนี้ผู้สอนจัดเตรียมเนื้อหาแหล่งทรัพยากรการเรียน ออกแบบการปฏิสัมพันธ์การเรียนและการสื่อสารการเรียนการสอนกับผู้เรียน

            3. แหล่งทรัพยากรการเรียนสนับสนุนให้ผู้เรียนสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสถานการณ์จำลอง เกม ห้องปฏิบัติการจำลอง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เป็นแหล่งให้ผู้เรียนค้นหาความรู้

            4. ความรู้/เนื้อหาในรายวิชาที่ออกแบบให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้

            5. ปฏิสัมพันธ์การเรียนโดยรูปแบบปฏิสัมพันธ์เป็นแบบทันทีทันใด หรือปฏิสัมพันธ์แบบไม่ประสานเวลา

การออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยใช้พื้นฐานการออกแบบการเสอนในที่นี้ได้เน้นโดยใช้แบบจำลองการสอน ADDIE และมีตัวอย่าง แนวคิดการอออกแบบการสอนแบบอีเลิร์นนิงมี 3 แนวคิด เพื่อให้ผู้อ่านได้เป็นแนวทางสู่การออกแบบการสอนอีเลิร์นนิงของตนเองต่อไปซึ่งการออกแบบการสอนควรต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ร่วมกันจึงจะให้ประสบความสำเร็จในการสอนด้วยอีเลิร์นนิง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น