วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2562

เพิ่มเติม บรูณาการ


     ปัจจุบันยังมีการกล่าวขานถึงหลักสูตรบูรณาการกันอยู่ และค่อนข้างบ่อยขึ้น อันเนื่องมาจากการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะเดิมๆ คือ การบูรณาการภายในวิชา (intradisciplinary) และบูรณาการระหว่างวิชา (interdisciplinary) ซึ่งมีความหมายเฉพาะการบูรณาการเนื้อหาวิชาเท่านั้น แท้จริงการบูรณาการหลักสูตรทำได้หลายลักษณะ ดังนี้
1.      การบูรณาการวิชา (Integrated by subjects) เป็นการบูรณาการระดับที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีผลกระทบต่อการจัดโครงสร้างหลักสูตรและการบริหารจัดการวิชาที่มีการบูรณาการกันบ่อยมากคือ วิชาสังคมศึกษากับวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับชีวิตและนักเรียนสัมผัสพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ส่วนการบูรณาการวิชาอื่นๆ ที่พบได้อีก เช่นวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์กับภาษาไทย เป็นต้น การบูรณาการเฉพาะบางช่วงชั้น หรือตลอดทุกช่วงชั้นก็ได้ แต่ช่วงชั้นที่ทำหลักสูตรบูรณาการมากที่สุด ได้แก่ ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย มักบูรณาการในระดับกรเรียนการสอน รายวิชามากกว่า เพราะต้องการให้นักเรียนมีความรู้สึกในวิชานั้นๆ แต่ก็จะมีการเพิ่มเติมโดยให้นักเรียนทำโครงงานที่บูรณาการหลายวิชาไว้ด้วยกัน
2.      จำนวนวิชาในหลักสูตรบูรณาการ มักเน้นเฉพาะวิชาหลักที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับชีวิตจริงวิชาหลักที่นำมาจัดเสมอ คือ วิชาการใช้ภาษา (ซึ่งบางครั้งแยกเป็นวิชาการอ่าน และวิชาการเขียน) วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา และวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อสถานศึกษาประสงค์จะจัดหลักสูตรแบบบูรณาการรายวิชา ครูที่สอนจะต้องวางแผนร่วมกันกำหนดหัวข้อเรื่อง (Themes) หรือประเด็นคำถามสำคัญ (Essential questions) สร้างกิจกรรมหรือเรื่องราวที่นำชีวิตจริง สภาพการณ์ที่เป็นจริงมาเป็นตัวตั้งในการทำหน่วยการเรียน
3.      บูรณาการการเรียนการสอน (Integrated by Learning management) 
o   บูรณาการทักษะ (Integrated by skills) บูรณาการในลักษณะนี้เป็นได้ทั้งภายในวิชาเดียวกันหรือบูรณาการหลายวิชา ที่บูรณาการทักษะในวิชาเดียวกัน เช่น บูรณาการทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การสรุป การนำเสนอ ในวิชาภาษาที่บูรณาการทักษะในหลายวิชา เช่น ทักษะการคิด ทักษะการจัดการ และทักษะการวิจัย (ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต) เป็นต้น วิชาที่มักบูรณาการด้วยทักษะ จำเป็นต้องมีการวางแผนร่วมกัน เพราะเกี่ยวข้องกับผู้สอนหลายวิชา ผู้สอนจะต้องมาตกลงกันเกี่ยวกับเนื้อหา ลำดับความยากง่าย จะแยกสอนเป็นวิชาหรือสอนเป็นทีม ครูต้องร่วมกันกำหนดคำถามสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และทักษะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนให้ครบถ้วนและเหมาะสม อีกทั้งให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่จะเรียนด้วย

การบูรณาการลักษณะนี้ใช้การจัดการเรียนการสอนที่เน้นโครงงาน (Projects) ประเด็นปัญหา (Issues) สภาพชุมชน (Community) อาชีพ (Careers) หรือแม้แต่ศาสนา การจัดทำหลักสูตรในลักษณะโมดูล (Modules) ก็อยู่ในประเภทนี้
o    
o   บูรณาการสื่อเทคโนโลยี (Integrated by technology) การจัดหลักสูตรโดยนำสื่อเทคโนโลยีมาบูรณาการนั้นน่าจะทำได้ง่ายและจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะทุกวิชาสามารถใช้เทคโนโลยีบูรณาการในการเรียนการสอนได้ แม้แต่วิชาเทคโนโลยีเองก็ใช้เนื้อหาวิชาอื่น เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ฯลฯ เป็นสื่อการเรียนรู้ได้ บูรณาการในลักษณะนี้ เรียกว่า เป็นบูรณาการแบบคู่ขนาน การบูรณาการโดยแหล่งเรียนรู้ก็จัดอยู่ในประเภทนี้
4.      การบูรณาการบริหารจัดการ (Integrated by management) ตัวอย่างของการบูรณาการประเภทนี้ เช่น การนำนักเรียนมาเรียนรวมกัน (Cross-age integrated curriculum) การให้ผู้สอนสอนร่วมกัน (Team teaching) เป็นต้น การจัดหลักสูตรอาจแยกเป็นรายวิชาหรือจัดแบบบูรณาการวิชาก็ได้ แต่วิธีที่เหมาะน่าจะเป็นการจัดหลักสูตรแบบโมดูล
         สำหรับขอบเขตและการจัดลำดับการเรียนรู้ในหลักสูตรบูรณาการทุกแบบ เป็นสิ่งปกติที่ครูต้องคำนึงถึงคือ ความยากง่ายตามระดับชั้นและวัย ความซับซ้อนจากน้อยไปหามาก หรือจากสิ่งใกล้ตัวไปสู่ไกลตัว อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำหลักสูตรบูรณาการ มักจะกระทำสิ่งต่อไปนี้ด้วย คือ


1.      จัดการเรียนการสอนโดยใช้เนื้อหาที่สัมพันธ์กับชีวิตเป็นตัวตั้ง จัดเนื้อหาในลักษณะหัวข้อเรื่องหรือโครงงาน หรือบูรณาการโดยเน้นสิ่งที่ต้องการใช้ผู้เรียนเรียนรู้ เช่น ศาสนา เทคโนโลยี เป็นต้น
2.      มีการวางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ครูต่างคนต่างทำ มิฉะนั้นจะเกิดความซับซ้อน แม้จะใช้การบูรณาการแบบคู่ขนานคือ ครูต่างคนต่างสอนโดยนำเนื้อหาของอีกวิชาหนึ่งมาบูรณาการ แต่ก็ต้องตกลงกันในส่วนของเนื้อหาที่จะนำไปบูรณาการเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน
3.      ไม่ว่าจะบูรณาการด้วยวิธีใดก็มักใช้วิธีการสอนแบบกำหนดหัวข้อเรื่อง (Themes) เป็นส่วนใหญ่ เพราะ 1. ผู้เรียนเข้าใจง่ายและเห็นความเกี่ยวข้องกับชีวิตจริง 2. สามารถบูรณาการได้มากว่า 2 รายวิชา
4.      ในการจัดการเรียนการสอนย่อมหนีไม่พ้นการประเมินผล ซึ่งต้องควบคู่ไปด้วยกัน คำถามชวนคิดก็คือ การประเมินผลการเรียนการสอนแบบบูรณาการล่ะทำอย่างไรได้บ้าง คำตอบคือ
o   ประเมินผลด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น สังเกตพฤติกรรมแล้วบันทึกผลสังเกต ใช้แบบทดสอบ ให้ตอบคำถามย่อยๆ ท้ายบทให้ทำโครงงาน/ชิ้นงาน/สิ่งประดิษฐ์ ให้นำเสนอผลงาน หรืออภิปรายผลงานของตนหรือของเพื่อน เป็นต้น
o   ประเมินโดยบูรณาการพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ ไปพร้อมๆ กัน จากการใช้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติงาน สร้างชิ้นงาน แล้ววัดความรู้และทักษะจากกการให้สาธิตและแสดงผลงาน วัดเจตคติจากการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสนุกสนาน
o   ประเมินจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ประเมินจากผลงานหลายๆ ชิ้น ประเมินจากการทำงานกลุ่มหลายๆ ครั้ง ประเมินทักษะการทำงานจากความคล่องแคล่วและความชำนาญ

5.      ประเมินโดยการบูรณาการทักษะที่ต้องการวัด เช่น บูรณาการความรู้กับทักษะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างที่สอดคล้องกัน บูรณาการทักษะกับค่านิยม เป็นต้น
6.      ประเมินจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ครู นักเรียน(ประเมินตนเอง) เพื่อน ผู้ปกครอง เป็นต้น
         จากการวิเคราะห์สังเคราะห์ แผนการสอนหรือหน่วยการเรียนรู้ทั้งหลาย พบว่า การประเมินผลการเรียนการสอนแบบบูรณาการจะเกิดขึ้นควบคู่กับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการและประเมินโดยการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง (Performance Assessments) แล้วประเมินจากชิ้นงาน/ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขณะกำลังปฏิบัติ ความรู้ที่ได้จากการนำเสนอผลงาน ตอบคำถามได้ชัดเจนมีข้อมูลและเหตุผลสนับสนุน ดังนั้น เครื่องมือการประเมินผลการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่สุด คือ Rubrics (วิธีการให้คะแนนที่สามารถบูรณาการสิ่งที่ต้องการประเมินได้มากกว่า 2 ลักษณะขึ้นไป)

ตัวอย่างการประเมินโดยใช้ Rubrics



ครูมอบหมายให้ผู้เรียนทำโครงงานและนำเสนอโดยใช้สื่อผสม (ประเมินภาพรวม) การประเมินต้องเป็นแบบบูรณาการ จึงจะเหมาะสมโดย
·        ประเมินความรู้ที่ได้ ทักษะการนำเสนอและเจตคติต่อสิ่งที่เรียนพร้อมๆ กัน (ประเมินจากการนำเสนอผลงาน)
·        ประเมินทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการอยู่ร่วมกัน ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการค้นคว้า (ประเมินจากการปฏิบัติร่วมกัน)
·        ประเมินทักษะการใช้ภาษา กับทักษะการใช้เทคโนโลยี และทักษะการแสวงหาความรู้ (ประเมินจากการรายงานหน้าชั้นเรียน)
·        ประเมินจากทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบภาวะผู้นำ-ผู้ตาม การคาดการณ์และการแก้ปัญหา (ประเมินจากการปฏิบัติงานกลุ่มแต่ละครั้ง)
·        ประเมินโดยตัวนักเรียนเอง ประเมินโดยเพื่อน และประเมินโดยครู โดยประเมินในประเด็นเดียวกันหรือต่างกันก็ได้ เพื่อดูความสอดคล้องของผลการประเมิน
การประเมินความสามารถในการพูดต่อหน้าประชุมชน (ประเมินเฉพาะด้าน) สามารถประเมินผลแบบบูรณาการได้โดย
·        ประเมินทักษะการใช้ภาษา ทักษะการพูด (โน้มน้าวดึงดูดใจผู้ฟัง) ทักษะการปรับตัว และบุคลิกภาพ (ประเมินหลายทักษะในกลุ่มเดียวกัน) 
·        ประเมินความรู้ (ความถูกต้องในเนื้อหา) การนำเสนอ การใช้เทคโนโลยี (บูรณาการความรู้และการใช้เทคโนโลยี)

สรุป คือ วิธีการประเมินผลการเรียนการสอนที่ดีที่สุดคือ การประเมินจากการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง (Performance Assessments) และใช้ Rubrics เป็นแนวทางในการให้คะแนน ซึ่งการกำหนดเกณฑ์การประเมินต้องคำนึงถึงผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และความสามารถของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น