วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

แนวทางจัดการศึกษาและแก้ปัญหาเยาวชน



แนวทางจัดการศึกษาและแก้ปัญหาเยาวชน

หลักการและเหตุผลการศึกษา
            การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ( Child Centre )  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของบุคคล ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความสุขบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืนจากจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็น คนดี คนเก่ง และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข บนพื้นฐานของความเป็นไทย

การจัดการศึกษาวิชาสามัญในปัจจุบัน

            หลักสูตรการเรียนในอดีตแม้แต่ในปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดกับการสอนด้านวิชาการตามเนื้อหาที่นักวิชาการหรือผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้เขียนและบังคับให้นักเรียนต้องเรียนตามที่กำหนดไว้จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เนื่องจากโรงเรียนได้แปลความประสงค์กลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มออกมาเป็นตัวเนื้อหาทางวิชาการมากมายเป็นตำราและแบบฝึกหัด  ให้ครูนำไปสอนนักเรียนในห้องเรียน จนครูและนักเรียนต่างก็เกิดความเครียดไม่ต่างกันเนื่องจากครูก็ต้องสอนให้หมดทุกเนื้อหาและนักเรียนก็ต้องผ่านการเรียนรู้ให้เป็นไปตามจุดประสงค์ที่โรงเรียนหรือครูเป็นผู้กำหนดบังคับไว้  นี้คือปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ( Child Centre )
         และปัจจุบันโรงเรียนหลายๆแห่งกลับนำเอาเทคนิคการจูงใจและวิธีการกระตุ้นแรงสร้างสรรค์ จากกิจกรรมโครงงานหรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เป็นปรัชญาการพัฒนาไปเป็นการสอนเสริมพิเศษที่ทำบ้าง ไม่ทำบางโดยกำหนดเป็นเพียงวิชาส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้นทั้งๆ นี้คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง ค้นพบความสามารถ ตามความพร้อมและความถนัดของตนเองเพื่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ รู้จักบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย เห็นคุณค่าในการประกอบสัมมาชีพ การบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข  เช่น จะต้องนำคำสอนในพระพุทธศาสนา เรื่องสิกขาหรือการศึกษานั้นมี ๓ ด้าน คือ ฝึกฝนพัฒนาในด้านการแสดงออกทางกายและวาจา (อธิศีล) ฝึกฝนพัฒนาในด้านคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต (อธิจิต) และฝึกฝนพัฒนาในด้านปัญญา (อธิปัญญา) จึงเรียกว่า ไตรสิกขา หรือการศึกษา ๓ ด้าน หรือ ๓ ส่วนดังตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมต่างๆ ต่อไปนี้

1. กิจกรรมทางพุทธศาสนา, ศีลธรรม, จริยธรรมและวัฒนธรรมประจำชาติ   เป็น กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอารมณ์ทางความคิดและการแสดงออก ให้ผู้เรียนสามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเอง การสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดี มุ่งสร้างเสริมเจตคติ คุณค่าชีวิต ความซื่อสัตย์สุจริต ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์   รู้จักและเข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถปรับตัวและปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างเหมาะสมตาม ความแตกต่างระหว่างบุคคล  การมีความเชื่อถือ แนวความคิด ความเข้าใจ ทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงามถูกต้อง สอดคล้องกับหลักความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เสริมสร้างทักษะชีวิต สร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง มีคุณค่า เกื้อกูล เป็นประโยชน์ อย่างน้อยไม่ เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและดำรงชีวิตที่ดีงาม   จุดหมายของชีวิตที่ดีงามนั้น ถ้าพูดตามหลักพุทธธรรมก็คือ ความดับทุกข์ หรือ ภาวะไร้ปัญหา คือการแก้ปัญหาได้ หรือการที่เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่ชีวิต ตลอดจนชีวิตนั้นเองไม่เกิดเป็นปัญหา เพราะปฏิบัติ ต่อมันอย่างถูกต้อง และเพราะแก้ไขให้ปัญหาหมดไปได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ความหลุดพ้นหรืออิสรภาพ เพราะปลอดพ้น ปราศจากการบีบคั้น กดดันจำกัด ขัดข้อง บางทีก็เรียกว่าสันติและความสุขที่มั่นคงยืนนาน   ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมเข้าวัดฟังธรรม ร่วมงานทางวัฒนธรรมประเพณีในโอกาสต่างๆ
2. กิจกรรมพัฒนาร่างกาย  ซึ่งเป็นเสมือนการให้ผู้เรียนได้ลงแข่งขันสู่ จุดหมาย อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเอง โดยทำให้คนนั้นก้าวไปในวิถีชีวิตที่ดีงามสู่จุดหมายมากยิ่งขึ้นๆ เป็นกิจกรรมที่พัฒนาให้ผู้เรียนเป็นผู้รู้แพ้ ยินดีต่อชัยชนะ จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม โดยมุ่งเน้นปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต อุตสาหะ  อดทน เคารพกฎกติกาของสังคม มีความ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เช่น กิจกรรมลูกเสือ–เนตรนารีและพลศึกษา กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์หรืออนุกาชาด
3. กิจกรรมพัฒนาความรู้ทางปัญญา   การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักสำเหนียก กำหนดมองสิ่งทั้งหลายให้ได้คุณค่า คิดเป็น รู้จักคิดวิเคราะห์สืบสาวให้เข้าถึงความจริงแห่งความรู้โดยหลัก อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ตามวัยและช่วงชั้น  เช่น กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาวิชาการ, กิจกรรมสาร เสียง สื่อภาษา,  รักษ์ภาษาพัฒนาความเป็นไทย,  ติดปีกสำนวนไทย, หมอภาษา,  โครงงานทางชีววิทยา วิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  ศีลปะและฝึกการฝีมือ การสืบค้นความรู้จากตำราในห้องสมุดและสื่อเทคโนโลยีการศึกษาทางมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
4. กิจกรรมตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนความสามารถพิเศษไปสู่ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่น นักกีฬา นักดนตรี  นักออกแบบ นักแสดงและพิธีกร เป็นต้น
       กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเบื้องต้นดังกล่าวจะต้องใช้ครูผู้ชำนาญและเป็นผู้นำ  กิจกรรมที่จัดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน ประกอบด้วยรูปแบบกระบวนการ วิธีการที่หลากหลาย มีการวิเคราะห์ สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ได้ ตามจุดประสงค์ให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์จากการปฏิบัติได้จริง   มีความหมายและมีคุณค่าในการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม มุ่งสร้างเสริมเจตคติ คุณค่าชีวิต ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง สร้างจิตสำนึกในธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปรับตัวและปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
      ตัวเด็กเองต้องรู้จักเลือกคบหากัลยาณมิตร คือรู้จักเลือกคบคนดี รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ที่ดี และรู้จักถือเอาแบบอย่างที่ดี หรือรู้จักเลือกบุคคลที่จะนิยมเป็นแบบอย่างในความประพฤติ เช่น รู้จักใช้ห้องสมุด รู้จักเลือกอ่านหนังสือ รู้จักเลือกดูรายการบันเทิงต่างๆ
      โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในสังคมสิ่งแวดล้อม จะต้องทำหน้าที่จัดหา จัดสรร และทำตัวให้เป็นกัลยาณมิตร แก่เด็กหรือผู้เรียน เช่น ผู้ปกครอง พ่อแม่ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี  ครูอาจารย์ประพฤติตนทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ที่ดี สื่อมวลชนเสนอข่าวสารข้อมูลที่ดีงามเป็นประโยชน์ จัดทำรายการที่มีคุณค่า ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่ดี ผู้บริหารโรงเรียน จัดสรรสภาพแวดล้อมให้เรียบร้อยดีงาม เอื้ออำนวยบริการข่าวสาร ข้อมูลและแหล่งความรู้ เช่น ห้องสมุดที่รวบรวมเนื้อหาความรู้เหมาะสม จูงใจให้ยากรู้ ยากอ่านในแต่ละกลุ่มเป้าหมายเป็นต้น หากคนเหล่านี้ทั้งหมดคอยช่วยชี้แนะให้เด็กและเยาวชน รู้จักเลือก หาแหล่งความรู้ และถือเอาแบบอย่างที่ดี
      ถึงเวลาแล้วที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาสู่ความสนใจและการปฏิบัติจริง เพื่อให้กระบวนการการศึกษาและการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เป็นระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะจะต้องถือเป็นจุดเริ่มต้นทางเดินของการศึกษา ที่จะสร้างเสริมให้เด็กนักเรียนอนุบาล,ประถมและมัธยม  เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนใน ไตรสิขา

                เรื่องการจัดการศึกษาดังกล่าว ตรงกับคำกล่าวของคุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ในเรื่องการศึกษาที่สมบูรณ์ นั่นก็คือท่านใช้ ไตรสิขา ( ศีลสิกขา,จิตตสิกขา,ปัญญาสิกขา ) คือ ศีลสมาธิปัญญา เพื่อกระตุ้นพลังความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กเรียนรู้ ครูจะเป็นผู้นำกิจกรรมและเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นผู้วิเคราะห์ประเมินความพัฒนาของเด็กแต่ละคน โดยไม่ต้องบังคับสอนบทเรียนทางวิชาการที่ครูมักจะกล่าวว่าสอนไม่ทันหรือให้นักเรียนท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง  จากความจริงที่ว่า เด็กสามารถเรียนรู้ ได้ด้วยตนเองถ้าเด็กมีความพร้อมที่ถูกต้องทาง กาย วาจา จิตใจ และปัญญา อยู่ในระเบียบอันดีงามแล้ว   เด็กก็จะเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน จากห้องสมุด,จากแหล่งความรู้ ที่โรงเรียนจัดไว้ อันจะเป็นความรู้ที่ยั่งยืนและมีความสุข และนำมาซึ่งปรัชญาโรงเรียนที่ว่า ศีลธรรม ปัญญา อาชีพ  คือจะต้องพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ ต้องเริ่มที่ศีลธรรมก่อนอื่นเพื่อควบคุมความประพฤติ  ฝึกให้รู้จักตัวเองที่ถูกต้องมีความนึกคิดที่ดีงาม ต่อด้วยพัฒนาปัญญาคือให้ความรู้ โดยเสริมสร้างพลังแรงจูงใจให้เด็กเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง ตามด้วยการดำรงชีพแสวงหารายได้ที่ถูกต้องสอดคล้องกับเหตุปัจจัยสิ่งแวดล้อม  ให้อยู่ร่วมกับสังคมที่มีระเบียบวินัย รู้จักคิดวิเคราะห์สืบเข้าถึงความไม่ประมาทและตื่นตัวทุกเวลา

        สิ่งที่โรงเรียนสัมมาชีวศิลปจะสามารถทำตามกลักการดังกล่าวให้สำเร็จได้ต้องมาจากปัจจัยตามลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

        1 ผู้บริหาร มีความรอบรู้ในหลักการและมุ่งมั่นสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาบุคลากร, ระบบบริหารและงบประมาณ อย่างเป็นเอกภาพโดยยึดหลักธรรมมาธิปไตยในการดำเนินการตามปรัชญาดังกล่าว

                2. ครูและบุคลากร ต้องมีพฤติกรรมที่เป็นผู้นำ ทำตัวอย่าง ด้านศีลธรรม จริยธรรม มีความรู้ทางพระพุทธศาสนา, อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย มุ่งศึกษาหาความรู้ทางกิจกรรมใหม่ๆ ดำเนินชีวิตตามควรแก่อัตตภาพมีความสมัครสมานสามัคคี ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกันอย่างชัดเจน  คงไม่มีผู้ใดไปสั่งการให้ครูและบุคลากรปฏิบัติเรื่องดังกล่าวได้หากเขาไม่นำออกมาด้วยตัวของเขาเองตามปรัชญามนุษย์ที่สมบูรณ์ดังกล่าว

      จึงเชื่อว่าหากสิ่งที่กล่าวมานี้จะเป็นจริงได้เพื่อการพัฒนาเยาวชนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์,  เยาวชนที่ผ่านการอบรมจากโรงเรียนสัมมาชีวศิลปจะได้รับความรัก ความเมตตากรุณาจากบุคลากรดังกล่าว จะมีแรงจูงใจต่อการพัฒนาตนเองและมีภูมิคุ้มกันที่สามารถวิเคราะห์ปฏิบัติตนให้อยู่อย่างเป็นสุขได้ในกระแสสังคมที่มีปัญหาในปัจจุบันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น