วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

หลักการและเหตุผล สสวท


หลักการและเหตุผล
          จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อันเกิดจากสภาวะเรือนกระจกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตและการอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคต ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคบริการ รวมถึงภาคประชาชน ได้หันมาให้ความสำคัญและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายหน่วยงานเริ่มให้ความสนใจต่อการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Green House Gas) รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองมากขึ้น
          การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) เป็นกระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การสกัดหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งและการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ การนำมาใช้ใหม่หรือการแปรรูป และการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยมีการระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขอนามัยของชุมชน เพื่อที่จะหาวิธีการในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
          สถาบันวิทยาการ สวทช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พัฒนาหลักสูตร “หลักการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA)” ขึ้นเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และการนำหลักการประเมินนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การจัดการที่เหมาะสมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์
1.      เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และบริการ
2.      เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และสามารถใช้หลักการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
3.      เพื่อนำไปสู่การจัดการที่เหมาะสมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และบริการ และสร้างโอกาสทางการแข่งขันด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.      เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรมุ่งสู่การเป็นที่ปรึกษาการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
ผู้เข้าร่วมอบรม
1.      เข้าใจหลักการและแนวคิดการประเมินวัฏจักรของชีวิตผลิตภัณฑ์สำหรับใช้เป็นกลไกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2.      ปฏิบัติตามหลักการคำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวางแผน ออกแบบ และพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.      ปรับใช้เป็นแนวทางและเป็นเครื่องมือในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าตลอดวัฏจักรชีวิตให้มีการลดการใช้วัตถุดิบ ลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก และลดปริมาณของเสียที่จะถูกปล่อยทิ้งออกมา
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับ
1.      ผู้ประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาในด้านวิศวการ
2.      ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีด้านวิศวกรรมหรือเทียบเท่าและมีคุณสมบัติหรือมีประสบการณ์เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผู้ให้บริการปรึกษาแนะนำด้านวิศวการอย่างน้อย 5 ปี
3.      อาจารย์ในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานเชิงวิศวกรรม
4.      เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม
5.      ผู้ชำนาญการในภาคอุตสาหกรรมซึ่งอาจมีตำแหน่งหน้าที่บ่งบอกถึงความชำนาญในสาขาที่เหมาะสม
6.      ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการสร้างที่ปรึกษาด้านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ภายในองค์กร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น