วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2562

จริยศึกษาและศาสนศึกษา


จริยศึกษาและศาสนศึกษา

จริยศึกษา เป็นหลักแห่งความประพฤติ ความเชื่อทางศาสนา ความคิดของ นักปราชญ์ อุดมคติ เพื่อสามารถนำมาปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียน มีความประพฤติที่พึงประสงค์ มีคุณธรรมและเป็นคนดี
ศาสนศึกษา คือ การศึกษาตามหลักศาสนาทั้งหมด ซึ่งมีองค์ประกอบของศาสนา คำสอนทางศาสนา การปฏิบัติตามหลักศาสนา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ศาสนาศึกษา ซึ่งประกอบด้วย ประวัติ หลักธรรมและพิธีกรรมที่ทุกศาสนามุ่งตรงกัน คือ การพัฒนาให้เป็นคนดีของสังคมนั้น ๆ
จริยศึกษาและศาสนศึกษา จึงมุ่งพัฒนาให้เป็นคนดีทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านร่างกายอารมณ์ สังคมและสติปัญญา นั่นคือ การมุ่งเน้นให้คนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นหรือมุ่งให้พัฒนาตน พัฒนาสังคม และพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้
วิชาจริยศึกษา มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียน เป็นคนดี มีความประพฤติดีเป็นที่ พึงประสงค์ของคนทั่วไป จึงเป็นวิชาที่ผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนให้เป็นคนดีก่อน เพื่อให้สามารถเรียนวิชาการอื่น ๆ ได้ดี และสามารถประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จด้วยดี
วัตถุประสงค์ของจริยศึกษา และศาสนศึกษา จึงประกอบด้วยลักษณะใหญ่ ๆ ๔ ประการ คือ องค์ความรู้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และเห็นคุณค่า สามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนเป็นกิจนิสัย และนำความรู้ไปพัฒนาตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมได้
ขอบข่ายเนื้อหาวิชาจริยศึกษา และศาสนศึกษา จะได้จากพฤติกรรมเชิงปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ตลอดชีพที่จะไปสอดคล้องกับศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งหมดสามารถแบ่งเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ต่อตนเอง เรียกว่า จริยธรรมบุคคล (personal ethics) มนุษย์มี ปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น หรือการที่ตนเองมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น เรียกว่า จริยธรรมสังคม (social ethics) มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี เรียกว่า จริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics)
๑. จริยธรรมบุคคล (personal ethics) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง โดยให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เช่น ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย ความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น
๒. จริยธรรมสังคม (social ethics) มุ่งเน้นเนื้อหาทางจริยธรรมที่เป็นเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมต่าง ๆ เช่น การศึกษา การเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจเพื่อให้ผู้เรียนมีความผสมกลมกลืนในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้ปกครอง ตนเองกับเพื่อน กับครู / อาจารย์ หรือตนเองกับบริวาร เป็นต้น เนื้อหาของจริยธรรมจึงได้แก่ ความเมตตากรุณา การพูดดี การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น การประกอบอาชีพสุจริต ความกล้าหาญทางจริยธรรม ฯลฯ
๓. จริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) เดิมมนุษย์ไม่เคยประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่ในปัจจุบันมนุษย์ประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อันเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเหลือน้อยลง การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางที่ผิด เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การทำลายป่าไม้ ฯลฯ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง และเสียสมดุล ส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์เอง
ปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องนำจริยธรรมสิ่งแวดล้อมมาศึกษาให้ครบทุกด้านโดยการบูรณาการกับทุกกิจกรรม เช่น การรู้จักประมาณในการบริโภคหรือทางสายกลางในการใช้สอย การกตัญญูกตเวทีรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อม การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
การจัดกิจกรรมเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีรากฐานอยู่บนความรู้ของมนุษย์ที่แบ่งศาสตร์ออกเป็น ๓ กลุ่ม ใหญ่ ๆ คือ
๑. กลุ่มมนุษย์ศาสตร์ เป็นความรู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์
๒. กลุ่มสังคมศาสตร์ เป็นความรู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับสังคม หรือผู้อื่น
๓. กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นความรู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

การจัดการเรียนรู้จริยศึกษาและศาสนศึกษา
ลักษณะเด่นของการจัดการเรียนรู้นี้ คือ ต้องจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (integration) ในทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่าง ต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัยจึงจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้ ทั้งเป็นรายวิชา และสอนแบบ บูรณาการกับวิชาและกิจกรรมอื่น ๆ ทุกโอกาสที่สามารถสอดแทรกได้ จึงจะสามารถ เปลี่ยนแปลงและสร้างพฤติกรรมให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติตนจนเป็นกิจนิสัยเป็นคนที่มี พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของสังคมนั้น ๆ ได้
การจัดการเรียนการสอนจริยศึกษา และศาสนศึกษา
การจัดการเรียนการสอนจริยศึกษาและศาสนศึกษา ควรมีแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ดังนี้
๑. จุดเน้นการเรียนรู้ด้านพฤติกรรม ความรู้สึก และการคิด
๑.๑ เน้นการสร้างพฤติกรรมตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา และพยายามให้ พฤติกรรมที่สร้างแล้วเหล่านั้นคงอยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเพิ่มพฤติกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น
๑.๒ การสร้างความรู้สึกซาบซึ้งและศรัทธาจะเริ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ ผู้เรียนได้รับการฝึกให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์แล้ว
๑.๓ การกระตุ้นให้คิดจะค่อย ๆ เริ่มและพัฒนาความสามารถทางความคิดของเด็กในแต่ละวัย จนความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมพัฒนาไปด้วยกันจนถึงเป้าหมายเมื่อจบชั้นปีที่ ๑๒ ดังภาพ

พฤติกรรม

ความรู้สึก ความคิด
ชั้น
๒. กระบวนการเรียนการสอน
๒.๑ ใช้สื่อหรือเทคนิควิธีการที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่รู้เป็นลำดับแรก
๒.๒ กระตุ้นให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและกล้าแสดงออก
๒.๓ ใช้เทคนิคทักษะการสอนที่เหมาะสม ในการดำเนินกิจกรรมการเรียน
การสอน เช่น การใช้กิจกรรมเกม เพลง บทบาทสมมุติ การอภิปรายการใช้กรณีศึกษา
การระดมสมอง ฯลฯ
๒.๔ ส่งเสริมให้นักเรียนฝึกคิดวิเคราะห์หาเหตุผลสนับสนุน สนใจหาความรู้เพิ่มเติม และนำผลการเรียนรู้ไปปฏิบัติอย่างมีวิจารณญาณตามความสามารถของเด็กแต่ละวัย
๒.๕ สรุปและประเมินผลการเรียนรู้ตามจุดเน้นการเรียนรู้ของแต่ละชั้นปี
๓. บรรยากาศการจัดการเรียนการสอน
๓.๑ จัดสภาพแวดล้อมให้สะอาด สงบ ปลอดโปร่ง ใกล้ชิดธรรมชาติ
๓.๒ ปรับเปลี่ยนสภาพของชั้นเรียนให้มีความหลากหลาย ไม่จำเจ เพื่อ
ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น
๓.๓ มีความเมตตากรุณา และมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน
และระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
๓.๔ ดำเนินการเรียนการสอนให้มีความร่าเริง เบิกบาน กระตุ้นและส่งเสริม
ให้นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์
๓.๕ มีการให้แรงเสริมและกำลังใจที่เหมาะสม
๓.๖ นักเรียนได้เห็น และยอมรับรู้ ความจริงใจหลักจริยศึกษา และหลัก
ศาสนา ด้วยการเห็นตัวอย่าง การฝึกคิดพิจารณา การฝึกปฏิบัติและเห็นผลของการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง
๔. สื่อและเทคนิควิธีกระตุ้นความสนใจใคร่รู้
การใช้ตัวอย่างหรือสื่อเทคนิควิธีการต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่าตามความเหมาะสมกับวัยและเนื้อหา
๔.๑ ธรรมชาติและปรากฏการณ์ธรรมชาติ ฝึกให้นักเรียนสังเกตและพิจารณาสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เช่น ใบไม้ที่ตั้งแต่ผลิใบอ่อน แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นใบแก่ที่เหลืองจัดและร่วงหล่นลงบนพื้นดิน
๔.๒ ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันที่นักเรียนพบเห็นนำมาใช้เป็นสิ่งเร้าและจูงใจ เข้าสู่การสอนหลักธรรมต่าง ๆ
๔.๓ สถานการณ์จำลองและบทบาทสมมุติ จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ได้ดีขึ้น
๔.๔ กรณีศึกษา
๔.๕ ภาพ นิทาน เกม เพลง
ฯลฯ
๕. บุคลิกภาพของครูที่เหมาะกับการสอนจริยศึกษาและศาสนศึกษา
๕.๑ ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายสมสมัย สมวัย และเหมาะกับกาลเทศะ
๕.๒ ควบคุมอารมณ์และแสดงพฤติกรรมขณะเกิดอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
๕.๓ มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
๕.๔ ใฝ่รู้ และคิดไกล
ฯลฯ

๖. กิจกรรมที่ควรนำมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น การบรรยาย การอธิบาย การตั้งปัญหา การศึกษาค้นคว้ารายงาน การอภิปราย การโต้วาที การสัมภาษณ์ การสังเกต การเล่าประสบการณ์ การแสดงความคิดเห็น การแสดงละคร บทบาทสมมุติ สถานการณ์จำลอง กรณีตัวอย่าง การใช้สื่อประกอบ เช่น หุ่น นิทาน เพลง เกม เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น