วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562

แนวคิดในการจัดการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้


ความหมายของภูมิปัญญาไทย
            จากการศึกษาความหมายที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต่างๆ ซึ่งครอบคลุมคำว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ได้ให้ความหมายพอสรุปได้ ดังนี้
            ภูมิปัญญาพื้นบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน (Popular Wisdom) หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา อันเป็นความสามารถและศักยภาพในเชิงแก้ปัญหา การปรับตัวเรียนรู้และสืบทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อการดำรงอยู่รอดของเผ่าพันธุ์จึงตกทอดเป็นมรดก ทางวัฒนธรรมของธรรมชาติ เผ่าพันธุ์ หรือเป็นวิธีของชาวบ้าน (ยิ่งยง เทาประเสริฐ)

            ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง กระบวนทัศน์ของบุคคลที่มีต่อตนเอง ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จะมีรากฐานคำสอนทางศาสนา คติ จารีต ประเพณี ที่ได้รับการถ่ายทอดสั่งสอนและปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ปรับปรุงเข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละสมัย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขในส่วนที่เป็นชุมชน และปัจเจกบุคคล ซึ่งกระบวนทัศน์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จำแนกได้ 3 ลักษณะ คือ
            1.ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม
            2.ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสังคมหรือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
            3.ภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบการผลิตหรือประกอบอาชีพที่มีลักษณะมุ่งเน้นระบบการผลิตเพื่อตนเอง
            ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ในด้านต่างๆ ของการดำรงชีวิตของคนไทยที่เกิดจาก การสะสมประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับแนวความคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาต่างๆ ของตนเอง จนเกิดหลอมตัวเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่เป็นลักษณะของตนเอง ที่สามารถพัฒนาความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาลสมัย ในการแก้ปัญหาของการดำรงชีวิต ( เสรี พงศ์พิศ)



แนวคิดในการจัดการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้
            แนวคิดของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิด ได้ปฏิบัติงานด้วยเอกลักษณ์ของตัวเอง แนวคิดที่สำคัญ มีดังนี้
            1. การจัดการเรียนรู้เน้นความสำคัญที่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ในกระบวนการเรียนรู้
            2. ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการฝึกทักษะการใช้กระบวนการคิด การวิเคราะห์ การสังเกต การรวบรวมข้อมูล และการปฏิบัติจริง ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น
            3. ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ได้คิด แสดงออกอย่างอิสระ บรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นกัลยาณมิตร
            4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทั้งระบบ
            5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้สอนให้มาเป็นผู้รับฟัง ผู้เสนอแนะผู้ร่วมเรียนรู้ เป็นที่ปรึกษา ผู้สร้างโอกาส สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นนักออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีบทบาทมากที่สุด
            6. ต้องการให้เรียนรู้ในสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต คือ สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวจากง่ายสู่ยาก จากรูปธรรมสู่นามธรรม โดยใช้แหล่งการเรียนรู้เป็นสื่อ ประสบการณ์ชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มาเป็นฐานการเรียนและประยุกต์ใช้กับการป้องกันและแก้ปัญหา
            7. ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสจัดกิจกรรมได้เรียนรู้ตามความต้องการ ความสนใจ ใฝ่เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง
            8. ถือว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาทุกสถานที่
            9. ปลูกฝังสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ในทุกสาระการเรียนรู้



ลักษณะของการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้
            1. ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง
            2. ผู้เรียนฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ปัญหาต่างๆซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และเพิ่มพูนทักษะสั่งสมประสบการณ์
            3. ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสังเกตการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การตีความและสรุปความ คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
            4. ผู้เรียนประเมินผลการทำงานด้วยตนเอง
            5. ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ความรู้ได้

            6. ผู้สอนเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน
การบริหารและจัดการแหล่งการเรียนรู้
            1. กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและใช้แหล่งการเรียนรู้ไว้ในแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการสถานศึกษา
            2. ปรับปรุงระบบบริหารจัดการและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้
            3. ประสานความร่วมมือกับชุมชนร่วมมือในการระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาและ สร้างบรรยากาศให้สถานศึกษาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
            4. กำหนดให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตร หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ ออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งการเรียนรู้มาบูรณาการทั้งเนื้อหาสาระและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
            5. กำหนดมาตรการให้ครูผู้สอนใช้สื่อที่หลากหลาย และใช้แหล่งการเรียนรู้ ในสถานศึกษาและท้องถิ่นสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียนได้ฝึกทักษะและลงมือปฏิบัติจริง
            6. ประเมินผลการใช้แหล่งการเรียนรู้รวบรวมข้อมูลสารสนเทศ ปัญหา อุปสรรค อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและการใช้แหล่งการเรียนรู้
            7. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนาและใช้แหล่งการเรียนรู้
            8. สร้างเครือข่ายการเรียนรู้
แนวทางการบริหารแหล่งการเรียนรู้
            การบริหารสถานศึกษาปัจจุบันเน้นการบริหารคุณภาพ ตามวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) ซึ่งสถานศึกษาสามารถนำมาใช้ในการบริหารแหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้การจัดแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษามีคุณภาพ การบริหารคุณภาพจะทำให้ การบริหารงานพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา มีการทำงานที่เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมการใช้แหล่งการเรียนรู้บรรลุเป้าหมายตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบบบริหารจัดการที่ดีตามระบบวงจรคุณภาพด้วยการมีส่วนร่วมของบุคลากรและชุมชน ประกอบด้วย  การวางแผน (Plan)  การดำเนินงานตามแผน (Do)  การตรวจสอบ (Check)  การพัฒนาปรับปรุง (Action)  (กระทรวงศึกษาธิการ 2544 : 14)

การใช้แหล่งการเรียนรู้เชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่นสู่สากล
            การใช้แหล่งเรียนรู้เป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่น สู่สากลและการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ ให้ผู้เรียน ได้ลงมือปฏิบัติ ระหว่างหรือหลังการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้นั้นๆ และสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้นั้น ผู้จัดกิจกรรมหรือผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ ซึ่งต้องรู้ว่าแหล่งเรียนรู้ นั้นถูกจัด อยู่ในประเภทใด มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง และมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอย่างไร ตลอดจนจุดเน้น หรือกิจกรรมของแหล่งเรียนรู้ ว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง และ มีเนื้อหาสาระอะไรที่ต้องการเน้น ให้ผู้เข้าใช้บริการทราบหรือเรียนรู้ ซึ่งผู้ออกแบบกิจกรรมต้องนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่ในแหล่งเรียนรู้ อาจมีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระการเรียนรู้ในหลักสูตร ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์และมีความหมาย ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้จึงเป็นกิจกรรม ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ หรือการขยายความรู้ความเข้าใจให้ผู้เรียน หรือเสริมทักษะทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ในตัวผู้เรียนต่อไป ฉะนั้นการนำภูมิปัญญาและแหล่งการเรียนรู้มาใช้ในการจัดแหล่งการเรียนรู้ จะเป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ท้องถิ่น กับความรู้สากล
การใช้แหล่งการเรียนรู้เชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่น
            แนวทางการใช้แหล่งการเรียนรู้เชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่นกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยกำหนดความหมายของท้องถิ่นและความรู้ท้องถิ่นเพื่อเป็นขอบเขตในการเชื่อมโยงความรู้ ได้ดังนี้คือ
            ท้องถิ่น หมายถึง บริเวณสถานที่รวมทั้งสภาพแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรมที่ผู้เรียนส่วนมากมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้อง คุ้นเคยมาตั้งแต่กำเนิด มีขอบข่ายครอบคลุม ทั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด และภูมิภาคของท้องถิ่นนั้น
            ความรู้ท้องถิ่น หมายถึง รายละเอียดของข้อมูลสารสนเทศรวมทั้งเนื้อหา องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ประวัติความเป็นมา สภาพเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ตลอดจนสภาพปัญหา สิ่งที่ควรได้รับการถ่ายทอดสู่คนในชุมชนและสังคมรุ่นหลัง
            เมื่อกำหนดความหมายแล้ว ครูผู้สอนต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ท้องถิ่น ได้พร้อมกับผู้เรียนโดยมีผู้เรียนที่อยู่ในท้องถิ่นร่วมกันจากประเด็นที่สนใจ กำหนดแนวทางการใช้แหล่งการเรียนรู้เชื่อมโยงสู่สากลของสถานศึกษา อาจจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ใช้แหล่งเรียนรู้เป็นที่ฝึกปฏิบัติงานของผู้เรียน เชิญภูมิปัญญา มาถ่ายทอดความรู้ การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนไปศึกษาสำรวจ หรือนำความรู้ท้องถิ่นมาบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ในหลักสูตร หรือจัดหรือฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งล้วนสามารถเชื่อมโยงกับสาระการเรียนรู้สากลได้อย่างดี
แหล่งการเรียนรู้กับสาระการเรียนรู้
            หลักสูตรกล่าวถึงความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องส่งเสริมให้พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ทั้งในสถานศึกษาและในท้องถิ่น ให้ครอบคลุมหลักสูตรและกว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นสากล ตลอดจนให้มีการกำกับ ติดตามเร่งรัดและประเมินผล การดำเนินงานเกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้ เป็นระยะ จึงได้กำหนดให้มีการกล่าวถึงแหล่งการเรียนรู้ ไว้ในสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:3) ดังนี้
            1. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  กล่าวว่า แหล่งการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ได้แก่
                        1.1 ห้องสมุด เป็นแหล่งการเรียนรู้และเป็นหัวใจสำคัญของสถานศึกษา ที่ผู้เรียนจะใช้ในการศึกษาค้นคว้า ใช้อ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ การจัดห้องวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา จะทำให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ จากการเรียน และการใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นคว้าหาความรู้มีความสำคัญมากขึ้นในการรับความรู้จากหลายแหล่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลในการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
                        1.2 ทรัพยากรบุคคล เช่น ผู้ปกครอง คนในท้องถิ่นที่มีความรู้ ภูมิปัญญาด้านภาษาถิ่น เพลงพื้นบ้าน พิธีกรรมต่างๆ ครูภาษาไทยควรจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมา ซึ่งสามารถเชิญมาให้ความรู้ในสถานศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:23)
            2. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  กล่าวว่า การเรียนรู้คณิตศาสตร์ในโลก ยุคไร้พรมแดน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะแหล่งการเรียนรู้ได้เปิดกว้าง ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย ได้แก่ ห้องเรียน ห้องสมุด สถานศึกษา ศูนย์การเรียน พิพิธภัณฑ์ สมาคม ชุมชน ชมรม ชุมนุม มุมคณิตศาสตร์ สวนคณิตศาสตร์ ห้องกิจกรรมคณิตศาสตร์ หรือห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเลกทรอนิกส์ รวมถึงบุคคลที่มีความรู้ ทางคณิตศาสตร์ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:29)

            3. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ต้องเสริมสร้างและสนับสนุนให้ผู้เรียน สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย มิได้จำกัดเฉพาะห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในสถานศึกษา หรือจากหนังสือเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งในและนอกสถานศึกษา และท้องถิ่น (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:45-46) ได้แก่
                        3.1 สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือเรียน หนังสืออ้างอิง หนังสืออ่านประกอบ หนังสือพิมพ์ วารสาร
                        3.2 สื่ออิเลกทรอนิกส์ ได้แก่ มัลติมีเดีย สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) หนังสืออิเลกทรอนิกส์ (e-book)
                        3.3 แหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา เช่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
                        3.4 แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานวิจัยท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ครู อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย
            ทั้งนี้ในการสอนวิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนควรจัดให้แหล่งการเรียนรู้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนที่จะได้รับการพัฒนา ทั้งด้านความรู้และความคิด ทักษะ กระบวนการ เจตคติ คุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม จากแหล่งการเรียนรู้เหล่านั้น
            4. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาวัฒนธรรม  กล่าวไว้ว่า สื่อการเรียนรู้ต้องมีชีวิตชีวา มีสีสันของการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน เครื่องมืออุปกรณ์การเรียน ไปจนถึงอุปกรณ์การสื่อสาร เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ บุคคล ภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้นการให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นสื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:50-51)
            5. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพละศึกษา  กล่าวว่า ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกเวลาทุกสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท รวมถึงจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม ท้องถิ่น และอื่นๆ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:20-27)
          6. กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  กล่าวว่า สามารถแสวงหาความรู้ได้ตลอดเวลา ทุกเวลา ทุกโอกาส ทุกสถานที่ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมาย ในปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ตามมาตรฐานของกลุ่มศิลปะได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:18)

            7. กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  กล่าวว่า วิธีการที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้ หรือเรียนรู้จากแหล่งความรู้ ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งวิทยาการ สถาบัน องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถานประกอบการ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:32)
          8. กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ  กล่าวว่า แหล่งการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นครูผู้สอนควรแนะนำให้ผู้เรียนใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ในการศึกษาค้นคว้า ฝึกทักษะทางภาษาเพิ่มเติมจากการเรียนในชั้นเรียนได้ด้วยตนเอง แหล่งการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะทางภาษา เช่น ครูผู้สอน เพื่อนร่วมชั้นเรียน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ห้องสมุดสถานศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (All For Education) รายการวิทยุ โทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ สถานที่ทำการของหน่วยงาน สถานที่ท่องเที่ยว สถานทูต การเดินทางไปต่างประเทศ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545:26-27)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น